การอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid Embolization: UFE)

กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทย และถือเป็นหัตถการที่กำลังเป็นจุดสนใจของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชในขณะนี้ เนื่องจากมีทีมงานที่ดูแลผู้ป่วยครบทั้งสูตินรีแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้น มีการประเมินผู้ป่วยร่วมกับแพทย์รังสีร่วมรักษา(Interventional Radiologist) ซึ่งจะเป็นแพทย์ผู้ทำหัตถการนี้ และจะร่วมกันดูแลผู้ป่วยตลอดการรักษาและการติดตามผล โดย UFE เป็นหัตถการที่สามารถใช้เป็นทางเลือกในผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก หรือเอามดลูกออกทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ เทคนิคของ UFE ทำโดยใช้การสอดสายสวนผ่านทาง หลอดเลือดแดงไปยังเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกซึ่งมักจะเป็นเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูก (uterine arteries )

หัตถการนี้เป็นเทคนิคที่มีหลักการคล้ายคลึงกับการรักษาเนื้องอก หรือมะเร็งในอวัยวะอื่นๆที่ใช้การอุดหลอดเลือดแดง (Intra-arterial Embolization ) โดยผลแทรกซ้อนต่างๆจากการทำหัตถการจะ มีน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัด จากการรายงานทางวิชาการในวารสารต่างๆที่เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบันยืนยันผลการรักษาว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในด้านเทคนิค และทางคลินิก อีกทั้งยังมีข้อมูลจากผลการติดตามการรักษาในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าสามารถหลีกเลี่ยงผลกระะทบที่มีต่อรังไข่ได้ และมีข้อมูลว่าผู้ป่วยสามารถ ตั้งครรภ์ได้หลังจากการรักษาด้วยวิธีนี้ (30,31) แต่ก็มีผู้ป่วยประมาณ 2% (5,17,21) ที่รังไข่มีผลกระทบจากการทำหัตการนี้จนเกิด amenorrhea ได้ อย่างไรก็ตามการรักษาโดยวิธีการนี้เป็นที่ยอมรับว่าได้ผลดี และปลอดภัย จนสามารถส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่เป็นก้อนเนื้องอก myoma uteri จำนวนมากหันมาให้ความสนใจและเลือกใช้เป็นวิธีการรักษาโรคของตน โดยในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชได้เริ่มให้การรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนกว่ายี่สิบรายแล้ว

Uterine myoma หรือ Uterine Fibroid หรือ Myoma uteri เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาไม่ใช่ชนิดเป็นเซลมะเร็ง แต่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในสุภาพสตรี และยังเป็นสาเหตุของอาการ ที่เกิดจากการกดของก้อน (bulk-related symptom) เช่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อยหรือท้องผูกเป็นต้น การรักษาโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกมาหรือที่เรียกว่า myomectomy หรือตัดเอามดลูกออกทั้งหมดหรือที่เรียกว่า hysterectomy หรือการรักษาโดยวิธีการอื่นๆ เช่น myolysis, cryoablation หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน ซึ่งก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป การทำ hysterectomy เป็นการยกเอามดลูกที่มีก้อนเนื้องอกออกไปหมด ย่อมทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้และยังมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดและดมยาสลบเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ การทำ myomectomy ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการกลับเป็นซ้ำได้ร้อยละ 20-25 (3,4) การทำ myolysis และ cryoablation จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการทำ laparoscopy ซึ่งยังมีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือหรือความชำนาญของผู้ที่จะสามารถทำการรักษาแบบนี้และต้องพึ่งพาการดมยาสลบเช่นกัน

ข้อบ่งชี้ (Indication) การอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid Embolization: UFE)

 1. มีอาการกด (mass effect) ต่ออวัยวะข้างเคียงจากก้อนเนื้องอก โดยมักจะพบก้อน uterine myoma จากการตรวจอัลตราซาวด์ หรือ MRI
  2. แพทย์ได้พิจารณาผลการตรวจ แล้วเห็นว่าสาเหตุของอาการน่าจะมาจากก้อน uterine myoma
  3. ผู้ป่วยได้รับการรักษาภาวะจากก้อนเนื้องอกหรือเลือดออกจากเนื้องอกด้วยการใช้ยา แล้วไม่ได้ผล หรือ ผู้ป่วยปฏิเสธการรับยา หรือมีปัญหาจาการใช้ยา
  4. ผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัดก้อนเนื้องอก หรือ ผู้ป่วยมีความประสงค์จะรับการรักษาด้วยวิธีนี้ หรือมีข้อบ่งชี้ที่เป็นข้อจำกัดต่อการผ่าตัด หรือดมยาสลบ
  5. ภาวะเลือดออกจาก myoma มาก หรือมีประจำเดือนมามากผิดปกติ จนผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการโลหิตจาง ซึ่งมักจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรต้องได้รับการรักษา

ข้อห้ามทำ (Contraindications)  การอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid Embolization: UFE)

  1. ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ 
  2. ต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยมีอาการจากก้อน myoma uteri โดยไม่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น มะเร็งของมดลูก เป็นต้น
  3. เป็น pedunculated serosal หรือ mucosal lesion 
  4. มีประวัติแพ้สารทึบรังสีอย่างรุนแรง 
  5. ระดับ serum creatinine สูงกว่า 2 mg/dl หรือมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดไตวายจากการใช้สารทึบรังสี

ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการรักษาโดยวิธี การอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroid Embolization: UFE)

ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับว่าการรักษาผู้ป่วยด้วย UFE ควรทำในผู้ป่วยที่มีอาการจากก้อนเนื้องอกเท่านั้นและควรจะเป็นหญิงที่วัยใกล้จะหมดประจำเดือน (Pre-menopausal patient ) และไม่ต้องการที่จะมีบุตรอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่หมดประจำเดือนและยังต้องการที่จะมีบุตร หากต้องการที่จะทำ UFE ควรจะได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการรักษา และความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้  สำหรับอาการที่เกิดจากเนื้องอกได้แก่ การมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการซีด (anemia) ร่วมด้วย มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลังหรือปวดขา มีอาการกดท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะอย่างชัดเจน

[Total: 1 Average: 5]