ภาวะซีด (Paleness) คือ ภาวะผิดปกติของสีผิวที่มีสีซีดเมื่อเทียบกับสีผิวปกติของคุณ ภาวะซีดนี้อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนลดลงหรือโดยจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ลดลง บางครั้งอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคอื่น ๆ เล่นโรคโลหิตจาง ดีซ่าน และรวมไปถึงการขาดสารอาหารบางประเภท เช่นขาดธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตตามินบี 12 ก็เป็นได้
โดยอาการผิวซีดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วตัวหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งก็เป็นได้ เช่นหน้าซีด ตัวซีด ปากซีด ลิ้น และเยื่อบุในปาก
สาเหตุ ภาวะซีด
เนื่องจากขั้นตอนการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน อาศัยสารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ มากมาย เช่น กรดอะมิโน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 กรดโฟลิก การขาดสารอาหารจึงเป็นสาเหตุหลักแรกๆ ของภาวะซีด โดยเฉพาะภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency anemia) หรืออาการซีดจากการขาดกรดโฟลิกซึ่งพบบ่อยในผู้ที่ไม่ได้กินผัก หรือโรคทางระบบเลือดบางอย่างที่มีผลต่อการสร้าง/สังเคราะห์ฮีโมโกลบิน
อาการ ภาวะซีด
อาการซีดอาจสามารถดูได้คร่าวๆ ด้วยตาเปล่า หรือคนที่มีอาการซีดเอง อาจจะรับรู้ได้ถึงความผิดปกติในร่างกายตนเอง เช่น
- รู้สึกเหนื่อย หรือเหนื่อยง่ายมากกว่าปกติ จากเดิมที่อาจจะไม่เคยเหนื่อยง่ายอย่างนี้มาก่อน เหตุผลเป็นเพราะการนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายโดยเม็ดเลือดแดงลดลง
- อาจมีคนทักว่า ดูซีด หรือเหลือง มากกว่าเดิม อันนี้ก็เป็นเกณฑ์ที่บอกได้คร่าว ๆ แต่ยังไม่ใช่เกณฑ์ที่เชื่อถือได้
- ใจสั่น เนื่องมาจากหัวใจต้องทำงานชดเชยกับปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงร่างกายที่ลดลง ด้วยการบีบตัวไล่เลือดไปให้บ่อยขึ้น โดยทั่วไป อาการซีดที่เรื้อรังจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ (โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจอยู่เดิม)
- หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ เนื่องจากต้องหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายเพิ่มขึ้น จากการที่เม็ดเลือดแดงนำพาออกซิเจนไปได้ลดลง
- เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม เนื่องจากออกซิเจนถูกนำพาไปสู่เซลล์โดยฮีโมโกลบินได้ลดลง
- อาการซีดอย่างเฉียบพลัน โดยมากมักจะเกิดจากการเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน (acute blood loss) เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัดใหญ่ที่ไมได้เลือดทดแทนทันเวลา ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติอย่างรวดเร็ว เช่น ใจสั่น ความดันเลือดตก โคม่า และเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน
- อาการซีดเรื้อรัง โดยมากจะเกิดจากการเสียเลือดปริมาณน้อย ๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น การมีพยาธิในร่างกาย ภาวะซีดจากภาวะทุพโภชนาการ ผู้ป่วยมักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป อาการวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด อาจจะไม่พบบ่อย (เพราะร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับการลดลงของฮีโมโกลบิน) หรือไม่พบ ณ เวลาปกติ แต่อาการอาจมีมากขึ้นเมื่อออกแรง หรือตื่นเต้น
การป้องกัน ภาวะซีด
การป้องกันขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซีด หากซีดเกิดจากการขาดสารอาหาร ผู้ป่วยสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างสมดุลอยู่เสมอ หรือหากเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือวิตามิน ก็ป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูงและมีวิตามินที่หลากหลาย เช่น
- ธาตุเหล็ก พบได้ในเนื้อสัตว์ ถั่ว ผักใบสีเขียวเข้ม ธัญพืชและผลไม้แห้ง
- วิตามิน บี 12 พบได้ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
- วิตามิน ซี พบไดในผลไม้จำพวกมะนาวและส้ม น้ำผลไม้ บร็อคโคลี่ มะเขือเทศ พริกไทย สตอเบอร์รี่ และเมลอน
- โฟเลต พบได้ในผลไม้และน้ำผลไม้ ผักใบสีเขียวเข้ม ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว และผลิตภัณฑ์ที่อุดมด้วยธัญพืช เช่น ขนมปัง เมล็ดธัญพืช ข้าวและพาสต้า
การรักษา ภาวะซีด
ในบางครั้ง อาการซีดอาจไม่ใช่สัญญาณการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่หากซีดเกิดจากปัญหาสุขภาพ ควรรักษาตามโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น
- การขาดสารอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานให้ถูกหลักโภชนาการอย่างสมดุล หรือรับประทานอาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โฟเลต หรือวิตามิน บี12 ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก โฟเลต หรือวิตามิน บี12
- โรคประจำตัวอื่น ๆ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
- การเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน หรือมีการอุดตันของเส้นเลือดแดง ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างทันท่วงที