หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative disc) คือ ภาวะที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมเกิดขึ้นในร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า อาการปวดหลังเรื้อรังนั้นพบมากขึ้นในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 25 – 50 โดยพบว่าในกลุ่มช่วงอายุนี้นั้นมีอัตรการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมนี้สูงที่สุดอีกด้วย
สาเหตุ หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แบ่งสาเหตุออกเป็น 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรกจากตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งได้แก่
- อายุ เป็นประเด็นหลักที่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่าย จะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป อายุเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ
- น้ำหนัก ผู้ป่วยที่รูปร่างใหญ่ น้ำหนักมาก หมอนรองกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักค่อนข้างมาก ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นเร็ว
ประเด็นที่สองจากกิจกรรม ซึ่งได้แก่
- กิจกรรม เวลาที่ผู้ป่วยก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้โดยง่าย หรือผู้ที่ต้องนั่งนาน ๆ ขับรถทางไกลมาก ๆ ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่ายเช่นกัน
- อุบัติเหตุ ผู้ที่เคยมีอุบัติเหตุ จะเป็นเหตุให้กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป สัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม จะเริ่มจากอาการปวดหลังพอเป็นมากขึ้นก็จะปวดไปยังบริเวณสะโพก เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลังอยู่ใกล้ส่วนที่เป็นเส้นประสาทจะส่งผลให้บางครั้งอาจมีอาการชาบริเวณขา มีอาการอ่อนแรงได้บ้างเล็กน้อย แต่ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดส่วนที่เป็นเส้นประสาทจะทำให้เกิดอาการปวดมาก บางรายถึงขนาดเดินตัวเอียง บางรายปวดรุนแรง เดินไม่ไหว ปวดร้าวไปที่ขา มีอาการชา อ่อนแรงที่บริเวณขา และสิ่งที่สำคัญก็คือ เกี่ยวกับเรื่องปัสสาวะและอุจจาระ แนะนำว่าถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
อาการ หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
1. ปวดบริเวณคอ ปวดหลัง อก ปวดเอว หลังช่วงล่าง หรือ ช่วงบริเวณไหล่ที่เชื่อมกับคอ โดยปวดแบบจี๊ดๆ เหมือนไฟฟ้าช็อต หรืออาจจะปวดจนสะดุ้งเบาๆ
2. ระยะเวลาในการปวด จะเป็นๆ หายๆ เป็นเวลามากกว่า 2 อาทิตย์ขึ้นไป
3. อาจมีอาการปวดทั่วแผ่นหลัง หรือปวดมากขึ้นในบริเวณบั้นเอว หลังช่วงล่าง ไปจนถึงขา
4. อาจมีการปวดรบกวนการใช้ชีวิต ขยับร่างกายก็ปวด นอนก็ปวด
การป้องกัน หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
ควรมีการระมัดระวังในการขยับร่างกาย งดการยกของหนัก ควรมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบทในการนั่ง และ ควรออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็สามารถยือดายุของหมอนรองกระดูกให้แข็งแรง และไม่เสื่อมได้ง่ายๆ อีกด้วย
การรักษา หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
ส่วนการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ในเบื้องต้นจะให้ทานยาและทำกายภาพบำบัด ในคนที่มีการปวดร้าวลงขาอาจใช้การฉีดยาลดการปวดตามเส้นประสาททำให้อาการดีขึ้นและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรงมีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด อาจใช้เทคนิคในการผ่าตัดต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีมากมาย ที่จะมาช่วยในการผ่าตัดเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพดียิ่ง ๆ ขึ้นไป