"โรคข้อสะโพกเสื่อม" คือ รูปแบบของข้ออักเสบที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไป จนทำให้เกิดการปวดและข้อติดขัด อาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นลงบันได การแต่งตัว หรือแม้แต่การนอนหลับ
เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อสะโพกจะมีอาการ เดินนั่งลำบาก หรือเดินกะเผลกเหมือนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ปวดเรื้อรังจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงาน
สาเหตุ โรคข้อสะโพกเสื่อม
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป
- ร่างกายต้องทำงานหนัก จากการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ในกลุ่มที่ครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
- โรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ โรคกระดูกสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยง (ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน อาจสัมพันธ์กับโรคประจำตัวบางอย่าง และการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์)
- ภาวะการติดเชื้อ
- การประสบอุบัติเหตุที่ทำให้สะโพกหัก
อาการของโรคข้อสะโพกเสื่อม
การสังเกตอาการเพื่อดูว่าตนเองมีอาการของโรคข้อสะโพกเสื่อม
- เบื้องต้นจะมีอาการปวด มีการติดขัดเวลาเคลื่อนไหว
- สำหรับผู้ที่เป็นมาสักระยะจะมีอาการปวดสะโพกเรื้อรังทั้งในขณะขยับตัวและตอนนอนหลับ รู้สึกตึงเมื่อลุกนั่งเจ็บเวลาเดินลงน้ำหนัก และขึ้นลงบันไดไม่สะดวก
การรักษา โรคข้อสะโพกเสื่อม
สำหรับขั้นตอนของการรักษา ผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา ซึ่งจะต้องผ่าตัดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย คุณหมอพนธกรบอกว่า ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องผ่าตัด ถ้าหากอาการยังเป็นไม่เยอะมากก็แค่ทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด แต่หากรักษาด้วยวิธีต่าง ๆแล้วไม่สำเร็จ การผ่าตัดจะเป็นวิธีสุดท้ายที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนเดิม
- การรักษาโดยไม่ผ่าตัด โดยเริ่มจากพักการใช้งานสะโพก พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกายภาพบำบัดบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการรับประทานยาแก้ปวดตามอาการ ส่วนใหญ่ถ้าสะโพกมีความเสื่อมไม่มาก คนไข้ก็จะมีอาการดีขึ้นได้เร็ว
- การรักษาโดยวิธีผ่าตัด โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ในกรณีที่คนไข้มีภาวะความเสื่อมมาก และมีอาการเจ็บปวดรุนแรง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต เช่น เดินไม่ได้ หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ