ถ้าสงสัย ควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์กะโหลกศีรษะถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจชิ้นเนื้อสมองเพื่อพิสูจน์ชนิดของเซลล์เนื้องอก
การรักษา มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป ยกเว้นเนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้ว ก็อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัดด้วยรังสี (radio surgery) หรือมีดแกมมา (gamma knife)
ในรายที่เป็นมะเร็ง (เช่น medulloblastoma‚ malignant gliomas) อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัด (ฉายรังสี) ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับการผ้าตัด และบางกรณี อาจต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมด้วย
ในรายที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (shunt operation)
ผลการรักษาขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก อายุและสภาพของผู้ป่วย
ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง(meningioma) เป็นต้น การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือหายขาด
แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามเร็ว (เช่น glioblastoma multiforme) หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่นก็มัก จะให้การรักษาแบบประทัง เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน