มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ มะเร็งที่พบได้ เป็นอันดับที่ 3 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 5 ของมะเร็งในผู้หญิง พบมากในช่วงอายุมากกว่า 50 ปี

สาเหตุ มะเร็งลำไส้ใหญ่

ยังไม่ทราบชัดเจน พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (เรียกว่า “Familial adenomatous polyposis”) เมื่ออายุมากขึ้น ติ่งเนื้อมีโอกาสกลายเป็น มะเร็ง
  • มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว อาจเป็นผลจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งร่วมกันใน ครอบครัวก็ได้
  • เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน
  • เคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็ง ชนิดอื่นที่บริเวณท้องมาก่อน
  • เคยมีประวัติผ่าตัดถุงน้ำดี น้ำดีไม่มีถุงพัก จึงไหลลงลำไส้ตลอดเวลา เกิดการระคายเคืองจนกลายเป็นมะเร็ง
  • มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรังได้แก่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ulcerative colitis) โรคครอห์น (Crohn’s desease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การกินอาหารพวกเนื้อสัตว์ใหญ่ (เนื้อแดง) แป้งและไขมันสูง ซึ่งมีเส้นใยน้อย ทำให้ท้องผูกอุจจาระคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เยื่อบุลำไส้จึงมีโอกาสสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง (ซึ่งพบมากในกากอาหารจากอาหารพวก ไขมัน) นานขึ้น
  • การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือเป็นเบาหวาน ก็ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น

อาการ มะเร็งลำไส้ใหญ่

ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง  ต่อมาเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นก็จะมีอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้นกับตำแหน่ง และขนาดของมะเร็ง เช่น มีอาการท้องผูกสลับท้องเดินแบบเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเรื้อรัง หรือ ถ่ายเป็นเลือดสด (ทำให้คิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวาร) อุจจาระมีขนาดเล็กกว่าแท่งดินสอ มีอาการปวดท้อง หรือมีลมในท้องเรื้อรัง  มีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก คล้ายปวดถ่ายอยู่ตลอดเวลา หรืออาจคลำได้ก้อนในท้องบริเวณด้านขวาตอนล่าง  บางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดกั้น คือปวดบิดในท้อง ท้องผูก ไม่ผายลมซึ่งจะเป็นอยู่เพียงชั่วครู่ แล้วทุเลาไปได้เอง และกลับ กำเริบใหม่เป็นครั้งคราว บางรายอาจมีอาการซีดอ่อน เพลียน้ำหนักลด

การป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่

อาจลดความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ โดย

  • กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ 
  • ลดอาหารพวกไขมันและเนื้อแดง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่  และการดื่มแอลกอฮอล์จัด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควบคุมโรคเบาหวาน (ถ้าเป็น) และน้ำหนักตัว

การรักษา มะเร็งลำไส้ใหญ่

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล แพทย์จะวินิจฉัย โดยการตรวจพบเลือดในอุจาระ หรือใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักพบก้อนมะเร็งที่ทวารหนัก (ไส้ตรง) ในผู้ป่วย บางราย เมื่อสงสัยเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่ม เติม เช่น เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (barium enema) การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ และ ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ การตรวจหาระดับสารซีอีเอ (carcinoembryonic antigen/CEA) ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย และให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับรังสีบำบัดและ/ หรือเคมีบำบัด บางรายอาจต้องผ่าตัดเปิดรูถ่ายอุจจาระ ที่หน้าท้อง (colostomy)

ผลการรักษา ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้หายขาดได้ในรายที่มีการลุกลามทะลุผนังลำไส้และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง การผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัด ก็สามารถช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้นานหลายปี แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปไกล การรักษาก็มักจะได้ผลไม่สู่ดี อาจอยู่ได้ประมาณ 6 -12 เดือน

[Total: 2 Average: 5]