มะเร็งศีรษะและลำคอ คือ มะเร็งที่พบมากในเพศชาย ซึ่งหากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาจะได้ผลดีมากเช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ สาเหตุของมะเร็งศีรษะและคอยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสาเหตุส่งเสริมหลายอย่างที่ก่อให้เกิดมะเร็งศีรษะและคอ
พบบ่อยเป็นอันดับ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย โดยพบประมาณร้อยละ 10 ของมะเร็งทั้งหมด พบมากในผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิง จากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในปี พศ.2555 พบว่ามะเร็งทางศีรษะและลำคอพบเป็นอันดับ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 11 พบรองจากมะเร็งทางระบบทางเดินอาหารและระบบสืบพันธุ์สตรี เป็นอัตราส่วน ชายต่อหญิงเท่ากับ 3:1 โดยมะเร็งทางศีรษะและลำคอที่พบมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งบริเวณช่องปาก รองลงมา ได้แก่ มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก, ,มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งหลังโพรงจมูกและมะเร็งคอหอยส่วนล่าง ตามลำดับ
สาเหตุ มะเร็งศีรษะและลำคอ
สำหรับประเทศไทย พบว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่ ส่วนการเคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยในอดีต และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิด “มะเร็งช่องปาก” โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติระดับยีนที่เสริมให้เกิดมะเร็งจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเสริมอื่นๆ ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกันความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ
อาการ มะเร็งศีรษะและลำคอ
อาการของมะเร็งศีรษะและคอจะเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ดังต่อไปนี้
- มะเร็งริมฝีปาก และช่องปาก : ผู้ป่วยมักจะมีแผลเรื้อรังในช่องปาก หรือริมฝีปาก กลืนลำบาก มีก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
- มะเร็งโพรงจมูก, จมูก, ไซนัส : จะมีเลือดออกทางจมูก คัดจมูก ปวดชาบริเวณแก้มและฟัน หูตึง ปวดหู
- มะเร็งกล่องเสียง : จะมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก เจ็บหู อ่อนเพลีย ก้อนที่คอโต
- มะเร็งต่อมน้ำลาย : จะมีก้อนบริเวณหน้าหู หรือใต้คาง
- มะเร็งพื้นปาก : จะมาด้วยมีแผลเรื้อรังในปาก มีก้อน และปวดหู
- มะเร็งลิ้น : เป็นแผลเรื้อรังที่ลิ้น บวม ปวด หรือมีเลือดออก
- มะเร็งโคนลิ้น : กลืนลำบาก สำลัก ไอบ่อย มีแผล หรือก้อนที่โคนลิ้น
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : จะมีก้อนที่คอโตแข็งกดไม่เจ็บ หรือมีก้อนที่ขากรรไกรโต หากก้อนใหญ่มักจะกดเส้นประสาทหรือเส้นเลือดที่คอ ทำให้บริเวณใบหน้าและคอบวม
การรักษา มะเร็งศีรษะและลำคอ
มะเร็งศีรษะและลำคอมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคร่วมจากการสูบบุหรี่ และดื่มสุรา การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลาย ๆ ฝ่าย ได้แก่ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศีรษะและลำคอ อายุรแพทย์เคมีบำบัด แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัย ประสาทศัลยศาสตร์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง วิสัญญีแพทย์และแพทย์ทางด้านระงับปวด ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ พยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็ง รวมไปถึงนักสังคมสงเคราะห์
การให้การวินิจฉัยและประเมินผู้ป่วยก่อนการรักษาถือเป็นหัวใจหลัก ของการดูแลรักษาทั้งหมด ความก้าวหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอในระยะเวลาที่ผ่านมา 15 ปี ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การลดสภาวะพิกลพิการและเพิ่มคุณภาพชีวิต ในขณะที่อัตราการอยู่รอดยังไม่เพิ่มขึ้น (อัตราการอยู่รอดที่ระยะเวลาห้าปี ของมะเร็งระยะต้นอยู่ที่ 50-60 % และต่ำกว่า 30 % ในมะเร็งระยะลุกลาม) ดังนั้น การนำเอาวิทยาการใหม่ๆ ทางด้านอณูชีววิทยาและอณูพันธุศาสตร์มาใช้อาจมีส่วนช่วยในการทำนายพยากรณ์โรคและในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้
แม้คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้จักกับ มะเร็งศีรษะและลำคอ มากนัก แต่ความจริงแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือการติดนิสัยเคี้ยวหมากพลู ก็อาจก่อให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นกัน จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอรายใหม่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชนเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละปี มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้ สูงถึง 10,000 คนโดยประมาณ มะเร็งศีรษะและลำคอ สามารถเป็นได้มากถึง 30 ตำแหน่งบนอวัยวะต่าง ๆ บริเวณศีรษะและลำคอ