ในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 350 ล้านคน และกว่า 260 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ดังนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อาฟริกา รวมทั้งประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่มีโรคไวรัสตับอักเสบบีชุกชุมมาก โดยประชากรประมาณร้อยละ 3-6 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแสดงว่าประชากรประมาณ 2-4 ล้านคน มีเชื้อไวรัสบีที่พร้อมจะแพร่และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้อื่น
เพราะไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคติดต่อซึ่งแฝงอยู่ในสังคมของเรา หากชะล่าใจอาจต้องเสียใจที่หลัง เนื่องจากหากติดเชื้อแล้วอาจหายได้ยาก หากพูดถึงโรคติดต่อ หลายคนอาจมองข้ามไวรัสตับอักเสบบี เพราะแม้โรคนี้จะแฝงอยู่ในคนจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ไม่ปรากฎอาการ จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้ง ๆ ที่เราสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจไม่มีอาการหรือมีอาการของโรคตับอักเสบฉับพลันแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาและตัวเหลือง หรือมีอาการรุนแรง ตับโต จนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และหายภายใน 2 เดือน แต่มีผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 5-10 ไม่หายสนิท เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งในอีก 10 ถึง 20 ปีต่อมา อาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในวัยแรกเกิดมักไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มนี้ร้อยละ 90 จะกลายเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังสามารถให้การรักษาได้โดยให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน การรักษาสามารถป้องกันผลที่ตามมาของการติดเชื้อของตับได้ เช่น การดำเนินโรคของการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ อย่างไรก็ตามโดยปกติการรักษาไม่สามารถหยุดการเพิ่มปริมาณไวรัสได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่สามารถหยุดการรักษาได้เนื่องจากปริมาณไวรัสจะกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่ได้