หูชั้นนอกอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบมากในวัยหนุ่มสาว อาจพบเป็นรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคเอดส์
สาเหตุ หูชั้นนอกอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส อาจเป็นฝีเฉพาะที่หรือมีการอักเสบทั่วไปของผิวหนังที่อยู่ในรูหูมักจะพบหลังเล่นน้ำหรือแคะหู (เนื่องจากคันในรูหู หรือ แคะขี้หู)
อาการ หูชั้นนอกอักเสบ
มีอาการปวดในรูหู อาจมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลบางรายอาจมีอาการหูอื้อ หรือมีไข้ร่วมด้วย
สิ่งตรวจพบ
ลักษณะอาการที่สำคัญ คือ เวลาดึงใบหูแรง ๆ จะทำให้เจ็บในรูหูมากขึ้น (ผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบจะตรวจไม่พบอาการเช่นนี้)
เมื่อใช้เครื่องส่งหู( otoscope )จะเห็นลักษณะการอักเสบหรือฝีอยู่ในช่องหู ส่วนเยื่อแก้วหูมักจะเป็นปกติ และไม่มีรูทะลุ
บางรายอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หน้าหู หลังหูหรือบริเวณคอ
การป้องกัน หูชั้นนอกอักเสบ
- ระหว่างที่มีอาการ ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เช่น อย่าเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง ควรใช้สำลีอุดรูหูเวลาอาบน้ำ
- โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงส่วนมากสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายอาจกำเริบได้ใหม่ ถ้าให้การรักษาแล้วมีอาการเป็นๆ หาย ๆ ควรส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
- ถ้าพบว่าหูชั้นนอกอักเสบรุนแรง (ปวดหูมาก หนองไหลมีกลิ่นเหม็น หูตึง อาจมีอาการปากเบี้ยว)ควรตรวจเลือดว่าเป็นเบาหวาน หรือโรคเอดส์หรือไม่
การรักษา หูชั้นนอกอักเสบ
ให้ยาแก้ปวดลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาชิลลิน หรืออีริโทรไมซิน
นอกจากนี้ อาจให้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะ ร่วมด้วย (ถ้าปวดมากอาจใช่ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะร่วมกับยาสตีรอยด์) หยอดหูวันละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละมากกว่า 5 หยอด ถ้ามีหนองไหล ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดหนองออกก่อนหยอดยา
ถ้าดีขึ้นให้ยาปฏิชีวนะสัก 5 – 7 วัน ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นบ่อย หรือพบว่าเป็นรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคเอดส์ ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ