การรักษา ตาเข

                1. ถ้าพบอาการตาเขเป็นครั้งคราวในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรเฝ้าติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีสาเหตุที่ผิดปกติ ก็มักจะหายได้เองเมื่ออายุได้ 6 เดือน ถ้าอายุพ้น 6 เดือนแล้วยังไม่หาย ควรปรึกษาจักษุแพทย์ 

                2. ถ้าทารกมีอาการตาเขตลอดเวลา หรือพบในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจจนถึงตาบอดได้

การรักษา ให้ผู้ป่วยฝึกการใช้ตาข้างที่เข โดยการปิดตาข้างที่ดี วันละหลายชั่วโมง เพื่อให้ตาข้างที่เขได้ทำหน้าที่บ้าง

                ถ้ามีภาวะสายตาสั้นหรือสายตายาว ควรตัดแว่นตาใส่ การรักษาโดยวิธีดังกล่าวอาจช่วยให้เด็กบางคนหายตาเขได้ภายในไม่กี่เดือน

                ถ้าตาเขมาก หรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

                การรักษาอาการตาเขและตาขี้เกียจ เมื่อกระทำก่อนเด็กอายุได้ 3-5 ปี จะทำให้การมองเห็นกลับคืนสู่ปกติได้สูง ถ้าอายุ 5-7 ปี อาการตาขี้เกียจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น และอายุมากกว่า 7 ปี การรักษาตาขี้เกียจมักไม่ค่อยได้ผล เพราะหลังวัยนี้ไปแล้ว ตาข้างที่เขอาจมีสายตาพิการอย่างถาวรจนยากที่จะแก้ไขได้

                3. ถ้าพบอาการตาเขในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ควรส่งปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้ทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ส่วนใหญ่ภายหลังการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้หายแล้ว อาการตาเขมักจะหายได้ แต่ถ้าไม่หายอาจต้องใส่แว่นหรือทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารโบทูลิน (โบท็อกซ์) หรือการผ่าตัด

[Total: 0 Average: 0]