ฟันผุ

ฟันผุ คือ ผิวฟันเกิดเป็นจุดหรือรูโหว่ เกิดจากหลายสาเหตุ อย่างแบคทีเรียในช่องปาก การดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม กินขนมขบเคี้ยวเป็นประจำ แล้วไม่รักษาสุขภาพฟันให้ดี หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะลามลึกลงไปถึงรากฟัน สร้างความเจ็บปวด เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียฟันซี่นั้นตลอดไป เรื่องของฟันผุ จึงเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ในร่างกาย

  • ฟันผุระยะที่ 1   เริ่มเห็นเป็นรูผุที่ผิวฟันอาจมี สีเทาหรือดำ มีสีขาวขุ่นรอบๆ ระยะนี้ยังไม่มีอาการใดๆ
  • ฟันผุระยะที่ 2   รูฟันผุลุกลามกว้าง และลึกขึ้นเข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้โพรงประสาทเกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารหวานหรือน้ำเย็น
  • ฟันผุระยะที่ 3   รูฟันที่ผุลุกลามลึกลงไป ถึง โพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทรับความ รู้สึก ทำให้ปวด เคี้ยวไม่ได้
  • ฟันผุระยะที่ 4   การอักเสบลุกลามออกไป รอบตัวฟัน ถึงอวัยวะรอบตัวฟัน อาจเกิดฝี หนอง ฟันโยก ปวด เคี้ยวไม่ได้

สาเหตุ ฟันผุ

ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่กินค้างคาอยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ “Streptococcus mutans” (สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่บนแผ่นคราบฟัน* เกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic) ที่มีฤทธิ์ในการสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟันจนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง

การสลายแร่ธาตุของฟันนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ โดยปกติแล้วฟันที่เริ่มผุจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เพราะน้ำลายในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสระหว่างชั้นผิวเคลือบฟันกับแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลายตลอดเวลา โดยจะมีทั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากฟัน (Demineralization) และการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน (Remineralization) อย่างสมดุล ซึ่งในสภาวะที่สภาพน้ำลายค่อนข้างเป็นกลาง จะไม่มีการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน แต่ในสภาวะที่จุลินทรีย์มีการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็จะเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมของน้ำลายให้เป็นกรดที่สามารถกัดกร่อนผิวฟัน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกจากตัวฟันไปยังน้ำลายมากกว่าการได้รับกลับคืนมา ซึ่งถ้าเกิดสภาวะนี้ขึ้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้ฟันผุได้ง่าย

เมื่อค่าความเป็นกรดบนพื้นผิวฟันหรือน้ำลายลดลงต่ำกว่าระดับค่าวิกฤติ (critical pH) ที่ pH เท่ากับ 5.2-5.5 เช่น จากการดื่มน้ำอัดลมบางชนิดที่มีค่าความเป็นกรด 2.3 การสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟันจะเกิดได้เร็วกว่าการคืนกลับแร่ธาตุสู่ตัวฟัน มีผลทำให้ขาดทุนสุทธิของโครงสร้างแร่ธาตุบนพื้นผิวฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือบูรณะเชื้อแบคทีเรียก็จะลุกลามเข้าสู่เนื้อฟันและเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบโพรงประสาทฟัน (Pulpitis) จนก่อให้เกิดอาการปวด บวม และการอักเสบอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบรากฟัน หรือลุกลามต่อไปยังเหงือก และกระดูกขากรรไกร เกิดเป็นหนอง และ/หรือเกิดการอักเสบที่รุนแรงจนก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเป็นสาเหตุของเยื่อบุหัวใจอักเสบได้

อาการ ฟันผุ

เมื่อต้องประสบปัญหาฟันผุ อาการที่พบนอกเหนือจากจุดหรือรูสีน้ำตาลดำบริเวณผิวฟันแล้ว อาการที่อาจตามมาหากไม่ได้รับการรักษา คือ อาการปวดฟัน เสียวฟัน ปวดฟันมากเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร หรือเวลารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารร้อน ๆ หรืออาหารที่มีความเย็น ขมปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ฟันเปลี่ยนสี หรือเป็นหนองได้

การรักษา ฟันผุ

การรักษาจะเริ่มจากกำจัดส่วนที่ผุแล้วทำการอุดฟันหรือบูรณะทดแทนฟันส่วนที่ถูกทำลายด้วยวัสดุอุดชนิดต่าง ๆ เช่น อมัลกัม เรซิน คอมโพสิต ทอง เซรามิก แต่หากมีการลุกลามจนสูญเสียเนื้อฟันมากอาจต้องทำการครอบฟัน หรือหากทะลุโพรงประสาทฟันต้องรักษารากฟัน

  • การอุดฟันด้วยอมัลกัม มีความแข็งแรง ทนทาน
  • การอุดฟันด้วยเรซินคอมโพสิต มีความสวยงาม 

เมื่อเกิดฟันผุ และเริ่มมีสัญญาณของความเจ็บปวดบริเวณเหงือกและฟัน ในเบื้องต้นให้ใช้ผ้าบาง ๆ ห่อน้ำแข็ง หรือใช้ถุงประคบเย็นประคบไว้บริเวณแก้มครั้งละประมาณ 10-15 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการปวด และสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน โดยต้องใช้ยาอย่างถูกต้องตามวิธีการและตามปริมาณที่เหมาะสมกับอายุผู้ป่วยที่ถูกระบุไว้บนฉลากยาเสมอ จากนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาฟันผุและรับการรักษาในขั้นต่อไป

[Total: 0 Average: 0]