โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ ภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคที่เกิดได้หลายสาเหตุ การติดเชื้อจุลชีพเป็นสาเหตุหนึ่ง เข้าใจว่าไวรัสเป็นสาเหตุประมาณครึ่งหนึ่งของเชื้อทั้งหมดที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เชื้อที่พบได้บ่อยคือ Coxsackie B และ A virus, Echovirus, Influenza A virus นอกนั้นเช่น Mumps, Measles, Rubella, Varicella zoster, Herpes simplex EBV, Cytomegalovirus และ parvovirus B19 นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้ออื่นที่ไม่ใช่ไวรัสก็ได้แต่พบน้อยกว่า เชื้ออื่นเหล่านี้เช่น Borrelia burgdorferi (โรคไลม์) หรือ Trypanosoma cruzi หรือเกิดจากการแพ้ยา เป็นต้น ก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้หมด

สาเหตุ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีสาเหตุได้หลากหลายมาก ได้แก่

  • การติดเชื้อ โดยมากเป็นเชื้อไวรัส (ซึ่งอาการช่วงแรกก็เหมือนหวัดทั่วไป) แล้วเชื้อเกิดเดินทางมาที่หัวใจ , นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่นในกลุ่ม Ricketsial Mycoplasma ก็ทำให้เกิดอาการได้ (แต่กลุ่มนี้มักจะมีไข้สูงนำมาก่อน) หรือถ้าเป็นอาการของหัวใจรูมาติกก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
  • สารเคมี เช่นสารหนู โลหะหนัก ยาบางชนิด ยาเคมีบำบัด พิษคาร์บอนมอนออกไซด์ ยาเสพติดบางชนิด
  • การได้รับรังสีที่ทรวงอก
  • การแพ้ยารุนแรง การแพ้พิษที่รุนแรง
  • โรคผิดปกติของภูมิคุ้มกัน หรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ

อาการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ไม่มีอาการเฉพาะของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของโรคไม่มาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติและแพทย์มักไม่สามารถตรวจพบโรคได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้าม เนื้อหัวใจมีพยาธิสภาพมากขึ้น อาการที่อาจพบได้ คือ

อาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักจะเกิดนำมาก่อนหลายๆวัน หรือเป็นสัปดาห์ก่อนที่จะมีอาการทางหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ หรืออาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ไม่เจาะจงว่าส่วนไหนของช่องท้อง และอาจร่วมกับท้องเสีย

อาการที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวกโดยเฉพาะเมื่อออกแรง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเมื่อออกแรง รู้สึกเป็นลม หรือ เป็นลมบ่อย ถ้าเป็นมาก อาจช็อก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้

การรักษา โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ การป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาต้านไวรัสเมื่อสาเหตุเกิดการการติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้านไวรัส การหยุดยาและให้ยาแก้แพ้ต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากการแพ้ยา เป็นต้น
  • การป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่
    • จำกัดอาหารเค็ม เพื่อลดปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดซึ่งจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงซึ่งจะเพิ่มการทำงานของหัวใจ หัวใจจึงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
    • กินยาขับน้ำ/ขับเกลือโซเดียม
    • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
    • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้งและน้ำตาล แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
    • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็ง แรง ลดความเครียด
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการปวด การให้ออกซิเจนเมื่อมีภาวะขาดออกซิเจน และการให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินอาหารได้น้อย เป็นต้น
[Total: 0 Average: 0]