การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับการมาของ Wellness Hotel

ระบบการดูแลสุขภาพ

ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมด้านการท่องเที่ยวจากภาคเอกชน เริ่มมองเห็นปัญหาและกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวใหม่ที่เน้นนักท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง มากกว่าเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว โดยตลาดนักท่องเที่ยวที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยให้ความสนใจ และน่าจะมีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างมากหลังวิกฤต คือกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทำให้ตลาดของโรงแรมประเภท Wellness Hotel ที่ในอดีตมีปริมาณไม่มากและเป็นตลาดที่จับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) น่าจะเข้ามาเป็นตลาด (Segment) สำคัญสำหรับธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย

Wellness Hotel คืออะไร 

จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Oscar (Hengxuan) Chi, Chris (Zhe) Ouyang and Christina Chi (2018) ได้ทำการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ และได้ให้นิยามคำว่า  Wellness Hotel คือโรงแรมที่มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าที่มีแรงจูงใจในการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงวิถีชีวิตที่ดี โดยโรงแรมให้บริการครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ การพักผ่อน อาหารเพื่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง

ประเภทของ Wellness Hotel 

จากการศึกษา ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเพื่อสุขภาพ ของ มานิศา ผิวจันทร์ และ อนัญญา รัตนประเสริฐ (2562) ซึ่งอ้างอิงจาก Illing (2016) ได้จำแนกประเภทของ Wellness Hotel ไว้ 4 รูปแบบ จากบริการเชิงสุขภาพน้อยที่สุดจนถึงมากที่สุด ประกอบด้วย

  1. โรงแรมและสปา (Hotel and Spa) คือโรงแรมแบบปกติที่เรารู้จักกัน โดยภายในโรงแรมมีบริการด้านสปา และการเสริมความงาม เช่น การทำผม แต่งเล็บ ซึ่งโรงแรมประเภทนี้จัดเป็น Wellness Hotel ในระดับเริ่มต้น
  2. โรงแรมที่มีสปาพร้อมโปรแกรมการฟื้นฟูสุขภาพ และความงาม (Hotel with Spa  and wellness function) โรงแรมประเภทนี้ จะคล้ายกับโรงแรมประเภทแรก แต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้าน wellness ที่มากกว่าแค่สปา รวมถึงมีการจัดโปรแกรมด้านการฟื้นฟูสุขภาพและความงาม โดยส่วนใหญ่จะมีโปรแกรมการให้บริการที่ลูกค้าจองเข้ามาล่วงหน้าพร้อมกับการจองห้องพักของโรงแรม เช่น โปรแกรมนวดบำบัดแก้ปัญหาความเมื่อยล้าจากการทำงาน หรือโปรแกรมด้านอาหารสุขภาพเพื่อปรับสมดุลให้ร่างกาย
  3. โรงแรมที่มีการให้บริการแพทย์ทางเลือก ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ (Hotel with Medical Function)  โรงแรมประเภทนี้จะเริ่มมีให้บริการทางการแพทย์ โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกายภาพบำบัด แพทย์ทางเลือก ที่ให้บริการทางการแพทย์ เช่น การฝังเข็ม ครอบแก้ว เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และฟื้นฟูร่างกายให้กับผู้ใช้บริการ เช่น นักกีฬา ที่มีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ คนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวดเมื่อยหรืออักเสบของกล้ามเนื้อ รวมถึงการบำบัดทางจิตใจที่มาจากความเครียด
  4. โรงแรมที่มีการให้บริการแบบคลินิก (Hotel Clinic) เป็นโรงแรมที่มีแพทย์มาให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง หรือเป็นการให้บริการที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เช่น การเสริมความงาม โดยอาจรวมถึงการผ่าตัดเสริมความงาม ด้วยก็ได้ การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดที่อาจต้องมีการเฝ้าดูอาการ ใช้อุปกรณ์เฉพาะทางการแพทย์ ในการตรวจประเมิน

ในประเทศไทย ANYA MEDITEC ด้วยแนวคิด Bring Hospital to Hotel ที่ใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสมิติเวช ตามมาด้วยการทำ Sleep Test ที่โรงแรมแทนโรงพยาบาล เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้กลายเป็น Hotel Clinic

ประเภทการให้บริการภายใน Wellness Hotel

Wellness Hotel โดยปกติแล้วจะให้บริการใน 4 รูปแบบหลัก โดยโรงแรมแต่ละแห่งให้บริการไม่ครบทุกรูปแบบก็ได้ ซึ่งบริการด้าน wellness ประกอบด้วย

  1. บริการด้านทรีตเมนต์ (Treatment) เป็นการให้บริการด้านการผ่อนคลายและความงาม ที่ยังไม่ใช่บริการการรักษาทางการแพทย์ เช่น บริการนวดสปา นวดแบบอโรม่า
  2. กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Movement) เช่น การทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมด้านกีฬา โดยมีโค้ชให้คำแนะนำ สำหรับการออกกำลังกาย เพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูสมรรถนะทางร่างกาย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในการเล่นกีฬาในประเทศไทย กิจกรรมการวิ่งมาราธอน การแข่งขันไตรกีฬา เป็นหนึ่งในกระแสกีฬาที่ได้รับความนิยม ทำให้มีโค้ชจัดโปรแกรมการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาให้กับนักกีฬาสมัครเล่น เช่น การจัดค่ายสำหรับผู้ที่สนใจการแข่งขันไตรกีฬา เพื่อสอนทักษะการว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และการวิ่ง รวมถึงให้คำแนะนำด้านโภชนาการทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง การแข่งขัน
  3. กิจกรรมเพื่อการผ่อนคลาย (Relaxing) Wellness Hotel ไม่ได้เน้นที่การดูแลสุขภาพกายอย่างเดียว การดูแลสุขภาพใจ การลดความเครียด เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่โรงแรมประเภทนี้จัดเตรียมให้กับลูกค้า เช่น การสอนทำอาหาร การอาบแดด การบำบัดด้วยดนตรี เป็นต้น
  4. กิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเอง  (Self-fulfillment) เช่น การสอนโยคะ Life Coaching ค่ายปฏิบัติธรรม และนั่งสมาธิ เป็นตัวอย่างของกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองที่สามารถสร้างเป็นโปรแกรม ThaiLife Homestay Resort & Spa ที่จังหวัดพังงา เป็นตัวอย่างของโรงแรม Wellness Hotel ที่มีการขายโปรแกรมปฏิบัติธรรมให้กับลูกค้า

แนวโน้มและโอกาสของ Wellness Hotel

มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศหลายปัจจัยที่ดูจะเป็นบวกต่อโรงแรมประเภท Wellness Hotel

ในด้านนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หลังวิกฤตโควิดเมื่อทำการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน ภาครัฐมีแนวโน้มจะเน้นที่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ให้เข้ามาพักผ่อนในประเทศไทยด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น ใช้เงินกับบริการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่น่าจะมีแผนในการควบคุม จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มสุขภาพในต่างประเทศจึงน่าจะเป็นตลาดสำคัญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ให้ความสนใจในการพัฒนาโปรแกรมทางการตลาดเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

ในด้าน Eco System หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Wellness Hotel เช่นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่มีศักยภาพในการรองรับลูกค้าต่างประเทศในการเข้ามาทำการรักษาพยาบาล ก็น่าจะเป็นธุรกิจต้นน้ำ ที่ส่งต่อลูกค้าเข้ามาสู่ธุรกิจ Wellness Hotel เมื่อเปิดให้มีการเดินทางได้ตามปกติ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำการรักษาพยาบาลในประเทศไทยน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวลำดับแรก ๆ ที่เริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

บริษัทประกันสุขภาพ และเงื่อนไขการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการ Wellness Hotel ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สร้างปัจจัยบวก  ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานที่ออกมาตรฐาน Wellness Hotel ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ตในเอเชียหลายแห่งรวมถึงในประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการขอตรวจประเมินเพื่อรับมาตรฐานดังกล่าว เช่น อ่าวนางปริ้นซ์วิลล์รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดกระบี่  ที่ผมเคยมีโอกาสได้เข้าไปจัดประชุมเกี่ยวกับมาตรฐานสปา และ Wellness Hotel ที่จัดโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขของประกันสุขภาพในอเมริกาและยุโรป ในกรมธรรม์บางประเภท ผู้ซื้อกรมธรรม์นอกจากจะได้รับความคุ้มครองในการรักษาพยาบาลแล้ว ยังสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเข้ามาพักฟื้น หรือใช้บริการฟื้นฟูสุขภาพกับโรงแรมที่ได้มาตรฐาน Wellness Hotel  โดยบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะช่วยกระตุ้นให้โรงแรมประเภท Wellness Hotel มีจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น

ผมเชื่อว่า Wellness Hotel น่าจะดึงดูดผู้ประกอบการโรงแรมเดิม ที่ปรับเปลี่ยนโรงแรมบางส่วนให้เป็น Wellness Hotel รวมถึงดึงดูดผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นก้าวเข้ามาเล่นในธุรกิจนี้ โดยเชื่อมโยงกับตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุ และกลุ่มที่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ช่วยให้ตลาดดังกล่าวมีการเติบโต คือกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน ที่น่าจะเป็นทั้งผู้ลงทุนพัฒนา Wellness Hotel และการเข้าไปจับมือกับผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ  ไม่แน่ว่านอกจากไทยจะเป็น Medical Hub แล้ว เราอาจจะเป็น  Hub ของ Wellness Hotel ด้วยก็เป็นได้

[Total: 5 Average: 5]

Leave a Reply