1. อาการของมาลาเรีย อาจไม่ตรงไปตรงมา ผู้ป่วย อาจมีไข้สูง โดยไม่มีอาการหนาวสั่น หรือหนาวสั่นวันละ หลายครั้งได้ บางรายอาจมีไข้สูงตลอดเวลา อาจมี อาการปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจพบในโรคอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ทุกราย ควรถามถึงพฤติกรรม เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีประวัติเข้าป่าหรือมีประวัติเคยได้รับเลือดมาภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 2 ปี หรือสงสัยว่าจะเป็นมาลาเรียจากการติดเชื้อทางอื่น (เช่น ลูกที่เกิดจากมารดาที่เคยเป็นมาลาเรีย เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการเลี้ยงยุงก้นปล่อง เจ้าหน้าที่ที่ตรวจเลือด หรือบุคคลที่บ้านอยู่ใกล้สนามบินซึ่งเครื่องบินอาจยุงก้นปล่องมาจากประเทศอื่น เป็นต้น) ก็ควรจะต้องเจาะเลือด ตรวจหาเชื้อมาลาเรีย
2. ผู้ป่วยมาลาเรีย อาจตรวจเลือดไม่พบเชื้อก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นโรคในระยะแรก ๆ (เชื้อมาลาเรียมีจำนวนน้อย) ดังนั้น ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ภายใน 12-24 ชั่วโมง หรือขณะมีไข้ การตรวจ เลือดบ่อย ๆ จะมีโอกาสพบเชื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่กินยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน หรือกินยารักษามา บ้างแล้ว ก็จะทำให้ตรวจพบเชื้อมาลาเรียได้ลำบากมากขึ้น เพราะจะเห็นเชื้อมาลาเรียไม่ชัดเจนดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีไข้และมีประวัติสงสัยติดเชื้อมาลาเรีย แม้ตรวจเลือดไม่ พบเชื้อ ก็ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและตรวจ เลือดบ่อย ๆ อาจจำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ชัดเจน
3. ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วหากมีไข้กำเริบภายใน 2 เดือน โดยไม่มีประวัติติดเชื้อครั้งใหม่ อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อมาลาเรียทั้งชนิดฟาลซิพารัมและชนิดไวแวกซ์ พร้อมกัน (พบได้ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่ติดเชื้อ ฟาลซิพารัม) แต่ได้รับการรักษาแบบชนิดฟาลซิพารัม จึงมีเชื้อชนิดไวแวกซ์หลบซ่อนอยู่ในตับ เกิดอาการกำเริบ ได้ หรือไม่ก็อาจเกิดจากได้ยาไม่ตลบหรือเชื้อดือยา ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการไข้กำเริบภายใน 2 เดือนหลังจากหายจาก มาลาเรียครั้งแรกแล้ว ควรต้องเจาะเลือดตรวจหาเชื้ออีก
4. ผู้ป่วยควรกินยาให้ครบ ถ้าไม่ครบ จะมีโอกาส เป็นไข้มาลาเรียกำเริบได้อีก ส่วนการกินยารักษามาลาเรีย ไม่ควรกินขณะจับไข้หนาวสั่น ผู้ป่วยอาจอาเจียนและได้ยาไม่ครบขนาด ควรให้ยาแก้ไข้หรือยาแก้อาเจียนนำไปก่อนสัก ½-1 ชั่วโมง เมื่ออาการไข้ทุเลา จึงให้ยารักษามาลาเรีย และหลังจากนั้นควรให้ผู้ป่วยนอนพักสัก 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรลุกหรือเดินทันที เพราะอาจเกิดอาการเวียนหัว (ความดันโลหิตต่ำ) และอาเจียนได้
5. ผู้ป่วยที่มีอาการไข้และหนาวสั่นมาก ถ้าไม่ได้ ประวัติเชื้อมาลาเรีย (เช่น ไม่ได้เข้าป่า หรือรับเลือด ) อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นก็ได้ ที่พบได้บ่อย ก็คือ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน นอกนั้นก็อาจมีสาเหตุจากโรคปอดอักเสบ ระยะ 24 ชั่วโมงแรก ท่อน้ำดีอักเสบ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิล โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น จึงควรตรวจดูอาการให้ถ้วนถี่ด้วย