คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids): ยาใช้ภายนอก สำหรับโรคผิวหนัง

ปัจจุบันพบว่ามีการใช้ทาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับการรักษาโรคผิวหนังเป็นจำนวนมาก ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบ และลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังได้ดีแต่ก็สามารถก่อให้เกิดผิวหนังบางและสีผิวจางลงได้ ปัจจุบันจึงได้มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีประสิทธิภาพสูงแต่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ในประเทศไทยยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทำให้พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีการซื้อยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อนำมารักษาโรคผิวหนังเองแบบไม่ถูกกับโรค ไม่ถูกที่ ไม่ถูกขนาด ไม่ถูกระยะเวลาในการใช้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่างๆตามมา

คุณสมบัติ

คอร์ติโคสเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ กดระบบภูมิคุ้มกัน ลดการแบ่งตัวของเซลล์ และกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น สีผิวจางลง ขนดก สิวขึ้น หรือกดระบบฮอร์โมนในร่างกาย โดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะมีหลายระดับความแรงทำให้ยามีคุณสมบัติดังกล่าวแตกต่างกันออกไป ยิ่งยาที่มีความแรงสูงก็มักจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้น ในปัจจุบันจึงได้มีการวิจัยเพื่อผลิตยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงแต่มีผลข้างเคียงน้อย ทั้งนี้การเลือกใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ต้องคำนึงถึง ตำแหน่ง ขนาด และลักษณะของรอยโรค ปริมาณ ความถี่และระยะเวลาในการใช้ยา อายุของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการดูดซึมยาแตกต่างกันออกไป

รูปแบบของยา

ในปัจจุบันพบรูปแบบของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ได้หลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ โลชั่น สารละลาย เจล แชมพู ครีม ขี้ผึ้ง เพื่อให้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับโรค หรือพื้นที่ที่ใช้ทา นอกจากนี้รูปแบบของยายังมีผลต่อประสิทธิภาพของคอร์ติโคสเตียรอยด์

โรคที่ใช้รักษา

ปกติแล้ว แพทย์มักใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาโรคดังต่อไปนี้

ข้อบ่งชี้ในการใช้ยา

เพื่อใช้ในการต้านการอักเสบของโรคผิวหนัง ลดการแบ่งตัวของผิวหนังและเยื่อเกี่ยวพัน โรคที่ตอบสนองต่อการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โรคลมพิษบางชนิดผื่นจากแมลงสัตว์กัดต่อย ไลเคน พลานัส หรือผื่นในโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เป็นต้น

หลักการในการใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์

  1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องก่อนการใช้ยา
  2. เริ่มใช้ยาที่มีความแรงระดับต่ำที่เพียงพอต่อการควบคุมโรค
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีความแรงไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคเป็นระยะเวลานาน
  4. เมื่อจำเป็นต้องใช้ยากับผิวหนังในบริเวณกว้างควรใช้ยาที่มีความแรงขนาดต่ำถึงปานกลาง
  5. โรคที่ตอบสนองต่อคอร์ติโคสเตียรอยด์ได้ดีควรใช้ยาความแรงระดับต่ำ โรคที่ตอบสนองต่อคอร์ติโคสเตียรอยด์ไม่ดีควรเริ่มใช้ยาความแรงระดับปานกลางถึงสูง
  6. ยาที่มีความแรงระดับปานกลางและสูง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในบริเวณหน้าหรือขาหนีบและหลีกเลี่ยงการใช้ในทารกและเด็กเล็ก
  7. ยาที่มีความแรงระดับสูงควรใช้กับผิวที่มีการหนาตัวขึ้น รวมทั้งฝ่ามือและฝ่าเท้า

ผลข้างเคียงของยา

  • ผิวหนังบางและฝ่อลง
  • สิวสเตียรอยด์
  • ขนขึ้นบริเวณที่ใช้
  • ผิวหนังสีจางลง
  • กระตุ้นรอยโรคที่มีการติดเชื้ออยู่เดิมให้แย่ลง
  • ผิวหนังระคายเคืองต่อการแพ้สัมผัส
  • ก่อให้เกิดต้อหินในรายที่มีการใช้ยาบริเวณรอบดวงตา
  • กดระบบไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี่-อะดรีนัล
  • เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดลดการใช้น้ำตาล อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้

ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์มาใช้เองทั้งนี้เนื่องจากต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น และรอยโรคบางชนิดเกิดจากการติดเชื้อ หากใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะทำให้อาการแย่ลง ผู้ป่วยจึงควรที่จะปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาดังกล่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ถูกโรค ถูกระยะเวลา ถูกปริมาณและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

[Total: 0 Average: 0]