ฟันเหลืองดำ

ฟันเหลืองดำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบเป็นถาวรในผู้ที่ใช้ยาแตตราไซคลีนและดอกซีไซคลีนอย่างพร่ำเพรื่อและไม่ถูกต้องจะเป็นโรคนี้อย่างถาวร เรียกอีกอย่างว่า ฟันตกกระ

สาเหตุ ฟันเหลืองดำ

สาเหตุที่ทำให้ฟันมีสีเหลืองดำผิดปกติ ที่พบบ่อยได้แก่ บุหรี่  สีผสมในอาหาร เชื้อแบคทีเรีย มักจะทำให้เกิดคราบเหลืองดำที่ส่วนผิวของฟัน ซึ่งสามารถขัดออกได้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวร ได้แก่ เตตราไซคลีน  ดอกซีไซคลีน และฟลูออไรด์

เด็กที่มีฟันเหลืองดำ เนื่องจากเตตราไซคลีนหรือดอกซีไซคลีน มักมีประวัติว่า มารดากินยานี้ขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กกินยานี้เมื่ออายุต่ำกว่า 8 ปี ยานี้จะเคลือบอยู่ในเนื้อฟันอย่างถาวร ทำให้เป็นสีเหลืองดำ หรือออกกระดำกระด่าง ขัดสีอย่างไรก็ไม่ออก

ส่วนฟันเหลืองดำจากฟลูออไรด์ (dental fluorosis) เกิดจากการกินสารฟลูออไรด์ในขนาดเกินไป (จากน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์สูงกว่า 2 ส่วนในล้าน หรือได้รับฟลูออไรด์ในรูปของยามากกว่า 1 มก./วัน) ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 14 ปี ซึ่งกำลังมีการเจริญเติบโตของหน่อฟันอ่อน ทำให้ฟันเปลี่ยนสีเป็นสีขาวขุ่นหรือสีน้ำตาล หากหน่ออ่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  ไม่ว่าจะได้รับฟลูออไรด์มากเท่าไร ก็ไม่ทำให้ฟันเหลืองดำ

อาการ ฟันเหลืองดำ

พบอาการของฟันมีสีเหลืองดำหรือกระดำกระด่าง

การป้องกัน ฟันเหลืองดำ

  • ไม่ใช้เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน และฟลูออไรด์อย่างผิดๆ เพื่อป้องกันอาการฟันเหลืองดำ หรือตกกระ
  • หลีกเลี่ยง การดื่มชา กาแฟและสูบบุหรี่ที่ทำให้เกิดคราบฟัน
  • ขูดหินปูนทุก 6 เดือน

การรักษา ฟันเหลืองดำ

ฟันเหลืองดำไม่ใช่โรคที่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากทำให้เสียบุคลิกภาพ  หรือเกิดปมด้อยเท่านั้น ถ้าเป็นไม่มากหรือไม่น่าเกลียด ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใดถ้าเป็นจนน่าเกลียด ก็ควรแนะนำไปปรึกษาทันตแพทย์อาจช่วยการขัดฟัน การฟอกฟัน หรือในรายที่ดำมาก ๆ อาจใช้การครอบฟัน แต่ถ้าฟันเหลืองดำอย่างถาวร และเป็นทุกซี่ก็ยังไม่มีวิธีแก้ไขที่เหมาะสม

[Total: 2 Average: 5]