รับยาใกล้บ้าน: ถอดบทเรียน รพ.นำร่อง แนะชี้ประโยชน์คนไข้-ให้ร้านยาช่วยดูแล

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

แม้ขณะนี้โรงพยาบาลในประเทศไทยจะได้เริ่มดำเนินตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในโครงการลดความแออัดโดยการรับยาที่ร้านไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา แต่นี้ก็ไม่ใช่วันแรกที่แนวทางนี้ได้มีการเริ่มต้นปฏิบัติขึ้น

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการนำร่องหรือทดลองการดำเนินงานไปแล้วบางส่วน ซึ่งบทเรียนความรู้ต่างๆ ได้ถูกพูดถึงในการอภิปราย “บทบาทของภาคีเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ในการสนับสนุนโครงการฯ และประสบการณ์ดำเนินโครงการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์โดยโรงพยาบาลและร้านยา” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562

การอภิปรายนี้ได้มีขึ้นในเวทีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม

เริ่มด้วย ภญ.สุณีรัตน์ กิตติคุณ จากร้านยาสมนึกเภสัช จังหวัดชลบุรี เล่าถึงการดำเนินงานของจังหวัดที่มีแนวความคิดเรื่องการรับยาที่ร้านมาก่อนราว 7-8 เดือน ก่อนที่จะมีนโยบายมาสอดรับกับแนวความคิด ทำให้การดำเนินงานมีความลื่นไหลด้วยความเข้าใจของทุกฝ่าย ทั้งโรงพยาบาล ร้านยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

ทั้งนี้ การนำร่องได้เริ่มต้นในโรงพยาบาลชลบุรี ที่มีเป้าหมายหลักสามข้อคือ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัย และลดความสูญเสีย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคนไข้ที่จะรับยาที่ร้านในสองโรคคือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งในเฟสแรกได้นำร่องที่ 4 ร้านยาคุณภาพในจังหวัด ที่มีเภสัชกรประจำไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

สำหรับขั้นตอนในช่วงเริ่มต้นทดสอบระบบ เมื่อพยาบาลคัดกรองว่าเคสใดเข้าเงื่อนไข เช่น มีความดันคงที่ ค่าน้ำตาลคงที่ ก็จะมีการแนะนำผู้ป่วยถึงตัวโครงการ และให้ข้อมูลว่าสามารถไปร้านยาใดได้บ้าง ซึ่งพบว่าจากการแนะนำผู้ป่วย 20 เคส มีเพียง 2 เคสเท่านั้นที่สนใจเข้าร่วมการรับยาที่ร้าน

“ตอนแรกคนสนใจเข้าร่วมน้อย เพราะเขารู้สึกยังไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่พอเราได้คุยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทักษะการสื่อสารก็มีมากขึ้น รู้ว่าประชาชนสนใจในจุดไหน เช่น เมื่อไปรับยาที่ร้านแล้วได้วัดความดัน ได้ชั่งน้ำหนัก ได้วัดเอวด้วย ทำให้เริ่มมีคนที่จะสนใจเพิ่มมากขึ้น” ภญ.สุณีรัตน์ เล่าประสบการณ์

ในส่วนของเฟสสองที่จะดำเนินการต่อไป ภญ.สุณีรัตน์ ระบุว่า จะเปิดรับสมัครร้านยาให้มากขึ้น เพื่อขยับออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมข้อมูลคนไข้บางส่วนระหว่างโรงพยาบาลกับร้านยา โดยการทำเป็นคิวอาร์โค้ดไว้สแกน ซึ่งร้านยาจะเห็นแค่ข้อมูลบางส่วนของคนไข้ที่มารับยา พร้อมกับหลักการที่อยากให้มีเภสัชกรประจำตัวของคนไข้ เช่นเดียวกับที่มีหมอประจำตัว

[Total: 0 Average: 0]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading