โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อที่ในประเทศไทยยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ หากติดเชื้อในกระแสเลือด จึงควรทำการศึกษาร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจและปฏิบัติตนให้เหมาะสม
สถานการณ์ทั่วโลก : เมลิออยโดสิสเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาของหลายประเทศ รายงานว่าประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางเหนือของทวีปออสเตรเลีย เป็นบริเวณที่มีโรคประจำถิ่น (Endemic area) และสามารถตรวจพบโรคนี้ได้บ้างในฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
สถานการณ์โรคในประเทศไทย : พบผู้ป่วยได้ทุกภาคทั่วประเทศ แต่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60 – 95) เป็นชาวไร่ชาวนาหรือผู้ที่ทำงานกับดินและนํ้า พบผู้ป่วยมากในฤดูฝน มีรายงานการติดเชื้อในโรงพยาบาล (nosocomial infection)ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง วัณโรค เบาหวาน โรคไต โรคเลือดมะเร็ง และภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน เป็นต้น เด็กเป็นโรคนี้น้อยกว่าผู้ใหญ่
สาเหตุ โรคเมลิออยโดสิส
การติดเชื้อโรคเมลิออยด์มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Burkholderia Pseudomallei ซึ่งพบได้ในน้ำ ดิน หรือตามพืชพันธ์ุต่าง ๆ แบคทีเรียชนิดนี้อาจติดต่อสู่มนุษย์โดยตรงผ่านการสัมผัสหรือแพร่ผ่านสัตว์เลี้ยงทีมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายอย่างแมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แกะ หรือแพะก็ได้ โดยเฉพาะการสัมผัสกับเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสูง
นอกจากนี้ ทั้งคนและสัตว์ต่างเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการสูดหายใจเอาฝุ่นผงเข้าไป ทั้งการได้รับละอองน้ำเล็ก ๆ หรือการรับประทานน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เจือปนอยู่ ยิ่งในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายที่สุด ส่วนการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นมีการรายงานว่าพบได้น้อย
โรคเมลิออยด์ติดต่อสู่ทุกเพศทุกวัยได้ แม้กระทั่งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม แต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหรือมีภาวะต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าปกติ
- วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและภาวะไตวาย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
- โรคเบาหวาน
- โรคไต โรคตับ
- โรคโรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง หรือโรคทางภูมิคุ้มกันที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อเอชไอวี
- โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคซิสติก ไฟโบซิส (Cystic Fibrosis) โรคหลอดลมพอง
- โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease) หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคที่ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำจากการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดขาว
- ผู้ที่ติดสุรา
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่มีภาวะธาตุเหล็กสะสมในปอด
- ผู้ติดเชื้อวัณโรค
อาการ โรคเมลิออยโดสิส
โรคเมลิออยด์เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะและมักแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอวัยวะภายในร่างกายที่มีการติดเชื้อ ดังนี้
การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง
อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้
การติดเชื้อในปอด
จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะมาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอ็กซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค
การติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทในโรคเมลิออยโดสิส
การรักษา โรคเมลิออยโดสิส
ให้การรักษาแบบประคับประคองและให้ยาเซฟตาซิดีนิ (Ceftazidime) หรือยาอิมิพีเนม(Imipenem) ทางหลอดเลือดอย่างน้อย 10 วัน แล้วให้การรักษาด้วยยาไตรเมโธพริม – ซัลฟาเมธอกซาโซล(Trimetoprim-Sulfamethoxazole) แบบรับประทาน(เป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์) ซึ่งอาจให้ร่วมกับยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ในเด็กที่อายุมากกวา่ 8 ปี
การวินิจฉัยเพื่อยืนยันได้จากการแยกเชื้อ หรือการเพิ่มสูงของระดับภูมิคุ้มกัน สำหรับการตรวจ Direct Immunofluorescent Microscopy นั้นมีความจำเพาะสูงร้อยละ 90 แต่มีความไวค่อนข้างตํ่าเพียงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับการเพาะเชื้อ จึงควรนึกถึงโรคนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุการป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มีโพรงในปอด คนที่อาศัยหรือเดินทางกลับจากแหล่งที่มีโรคชุก โรคนี้อาจเริ่มแสดงอาการหลังติดเชื้อนานถึง 25 ปี