การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แปป สเมียร์ (Pap smear)

การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

ในปี พ.ศ. 2535 องค์การอนามัยโลกรวบรวมสถิติพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวีธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ในประชากรหญิง อายุ 35-60 ปี ทุก 5 ปี และมีความครอบคลุมร้อยละ 50 ของประเทศจะสามารถลดอุบัติการณ์ ของมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 44 Pap smear จึงเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เสียค่าใช้จ่ายไม่สูง เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายกันมานานจนถึงปัจจุบัน คำแนะนำสำหรับสตรีไทยคือ ควรรับการตรวจ Pap smear ครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 30-35 และควรตรวจเป็นประจำทุก 1-3 ปี สำหรับความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปาก มดลูกของสตรีแต่ละคน สูตินรีแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้แนะนำว่าสมควรตรวจบ่อยเท่าใด

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แปป สเมียร์ (Pap smear)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. การตรวจแป๊ปสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap Smear) เป็นการใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ประมาณ 50-60% (ประกันสุขภาพของรัฐบาลครอบคลุมการตรวจนี้)
  2. การตรวจแป๊ปสเมียร์แบบแผ่นบาง (Thin layer) เป็นการเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดจากเครื่องมือกวาดเซลล์ แล้วนำเซลล์ที่กวาดได้ไปใส่ไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อนแล้วจึงค่อยดูดเซลล์ขึ้นมาย้อมบนแผ่นกระจก โดยมีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงกว่าแบบสามัญคือประมาณ 70-80% แต่ถ้ามีการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ด้วย พบว่าการตรวจแบบแผ่นบางนี้จะมีความสามารถในการตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงเกือบ 100% (การตรวจแบบแผ่นบางจะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าแบบสามัญประมาณ 10 เท่า และไม่ครอบคลุมในการใช้สิทธิประกันสุขภาพของรัฐบาล)

นอกจากนี้ ในบางสถานพยาบาลอาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid : VIA) แต่ยังเป็นวิธีไม่ค่อยนิยมตรวจกันเท่าไหร่นักในปัจจุบัน

การดูแลรักษาเมื่อตรวจพบเซลล์ผิดปกติจากปากมดลูก (abnormal Pap smear)

การตรวจพบเซลล์ผิดปกติอาจมิได้หมายความว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะการตรวจวิธีนี้ที่เรียกกันว่า แปป สเมียร์ นั้น เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาเป็นแต่การตรวจคัดกรองเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถสรุปการวินิจฉัยได้ขั้นตอนต่อไปคือ การตรวจเพิ่มเติมหรือบางรายจำเป็นต้องได้เนื้อเยื่อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยมาตรฐาน การจะได้มาซึ่งเนื้อเยื่อเพื่อการตรวจนั้นผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องขยายดูปากมดลูก (colposcopy)ระหว่างการตรวจแพทย์มักจะย้อมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น บางรายอาจจะมีการตัดเนื้อปากมดลูกออกมาตรวจด้วย หรืออาจมีความจำเป็นต้องขูดเนื้อเยื่อในโพรงปากมดลูกออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาด้วย วิธีการนี้ไม่น่ามีความเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่จะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและวางแผนในการดูแลรักษาต่อไป

เตรียมตัวก่อนตรวจภายใน แปป สเมียร์ (Pap smear)

การตรวจภายใน เป็นเรื่องที่ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรทำเป็นประจำ เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในมดลูก โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง โดยสำหรับใครที่ยังไม่เคยตรวจภายในมาก่อน วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับ 6 ข้อควรรู้ ก่อนไปตรวจภายใน เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องมากขึ้นนั่นเอง

1.ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอด

การตรวจภายใน คือการตรวจบริเวณช่องคลอดและภายในช่องคลอด ดังนั้นก่อนไปตรวจ จึงควรทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดให้ดี ด้วยการล้างด้วยสบู่แบบธรรมดาที่มีความอ่อนโยนต่อผิว โดยล้างแค่ภายนอกเท่านั้น ไม่ต้องสวนล้างข้างใน ที่สำคัญไม่ต้องทาแป้งหรือฉีดสเปรย์เพื่อดับกลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น แค่ล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งก็พอ

2.ใส่กระโปรงหรือกางเกงหลวมๆ

เพราะขั้นตอนการตรวจภายในจะต้องถอดกางเกงออกก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจ ดังนั้น จึงควรใส่กางเกงหลวมๆ ที่สามารถถอดได้ง่าย หรือจะใส่กระโปรงแทนก็ได้ เพราะจะช่วยให้การตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ใครที่ไม่อยากเจอกับความยุ่งยากในการตรวจ อย่าเผลอใส่กางเกงคับแน่นไปเชียว

3.เลี่ยงช่วงมีประจำเดือน

แพทย์จะไม่ตรวจภายในช่วงที่มีประจำเดือน นั่นก็เพราะเป็นช่วงที่มดลูกอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นหากคิดจะตรวจภายใน ควรเลี่ยงให้พ้นช่วงมีรอบเดือนไปก่อนดีกว่า

4.อย่าโกนขน

ไม่ควรโกนขน เพราะอาจทำให้การตรวจภายในไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากโรคบางโรคจะต้องวินิจฉัยโดยดูลักษณะของขนบริเวณอวัยวะเพศด้วย หากโกนขนออกจึงทำให้หมอวินิจฉัยได้ลำบากนั่นเอง นอกจากนี้การโกนขน ก็จะทำให้อวัยวะเพศบอบบางลงกว่าเดิม และอาจเกิดการติดเชื้อหรือเป็นเชื้อราได้ง่ายเช่นกัน

5.งดมีเพศสัมพันธ์

ก่อนตรวจภายใน ควรงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 48 ชั่วโมง เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลตรวจวินิจฉัยไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

6.อย่าสวนล้างช่องคลอด

ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปตรวจภายใน เพราะการสวนล้างอาจทำให้ส่วนที่เป็นสาเหตุของโรคถูกชำระล้างออกไปด้วย ทำให้แพทย์ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้หรือตรวจไม่พบ นอกจากนี้การสวนล้างก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นการทำลายแบคทีเรียชนิดดีออกไป เพราะฉะนั้นหากไม่จำเป็น ก็ห้ามสวนล้างช่องคลอดเด็ดขาด

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว สำหรับใครที่กำลังจะไปตรวจภายใน ก็อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่การตรวจภายในจะได้ผ่านไปด้วยดี และนอกจากการตรวจภายในแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะยิ่งรู้ทันโรคมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งห่างไกลจากโรคร้ายมากเท่านั้น

[Total: 1 Average: 5]