มะเร็งตับ

มะเร็งตับ  เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันอับหนึ่งของ โรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรวมทั้ง 2 เพศ  มักเกิดในคนอายุ 30-70 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 -3 เท่า

                        ในบ้านเรา  แบ่งมะเร็งตับออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

               1. มะเร็งเซลล์ตับ (hepatoma/hepatocellularCarcinoma/HCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับ) พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี (ทั้งที่เป็นพาหะและผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง) ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเซลล์ตับ

               2. มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma/CCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ (biliary  tree) ซึ่งพบร่วมกับโรคพยาธิใบไม้ตับ พบมากทางภาคอีสาน

3. ส่วนโรคพยาธิใบไม้ตับ (opisthorchiasis) พบว่ามีซุกชุมทางภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งประชาชนบางส่วนนิยมกินปลาดิบ ๆ และปลาร้า

สาเหตุ มะเร็งตับ

มะเร็งเซลล์ตับ พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุสัมพันธ์ กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ตับแข็ง และการดื่มแอลกอฮอล์จัด นอกจากนี้ยังพบว่าสารอะฟลาท็อกซิน (afla toxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Aspergillus flavus และพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง (โดยเฉพาะถั่วลิสงบด) ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม องุ่นแห้ง ปลาตากแห้ง มันสำปะหลัง แหนม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เป็นต้น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

                มะเร็งท่อน้ำดี  พบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ตับ และสารไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบในอาหารพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม เป็นต้น) อาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว (เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น)  และอาหารรมควัน (เช่น ปลารมควัน)

                ส่วนโรคพยาธิใบไม้ตับ เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ (liver fluke หรือ opisthorchis) ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาตามหนองบึง เช่น ปลาแม่สะเด้ง  ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร  ปลากะมัง  เป็นต้น ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน  เมื่อคนกินปลาดิบๆ ที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไป  ตัวอ่อนของพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ในตับอย่างถาวร  สามารถอยู่นานถึง 25 ปี ทำให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติของตับพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี

วงจรชีวิตของพยาธิ  พยาธิตัวแก่ที่อยู่ในตับคนสุนัขหรือแมว จะออกไข่ปนออกมากับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก และไข่ถูกหอยชนิดหนึ่งกินและฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะออกจากหอยว่ายน้ำไปสู่ปลาดังกล่าว เมื่อคนกินปลาพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตในตับอีก

อาการ มะเร็งตับ

มะเร็งตับ ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ (ยกเว้นในรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อน ก็จะมีอาการของโรคตับแข็ง) เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด จุกเสียดท้อง คล้ายอาการไม่ย่อยบางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงขวาโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้อาการเหล่านี้มักเป็นอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยผู้ป่วยอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอกชายโครงหรืออาหารไม่ย่อย

                เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน  มีอาการ ปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้ สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต  

บางรายอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย

                ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (มักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัดคันตามตัว อุจจาระสีซีด

                ในรายทีมีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด

โรคพยาธิใบไม้ตับ  ระยะแรกเริ่มอาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลย หรือมีเพียงอาการท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย หรือออกร้อยบริเวณชายโครงขวาหรือยอดอกตรวจอุจจาระจะพบไข่พยาธิใบไม้ตับ

                ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา  ปล่อยจนเลยวัยกลางคน อาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อนกล่าวคือ มีอาการไข้ ดีซ่าน  ปวดแถวลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นติดต่อเรื่อยไป

                ในที่สุดเมื่อมีโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีแทรกซ้อนผู้ป่วยจะมีอาการมะเร็งตับในระยะท้าย กล่าวคือ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว มีอาการดีซ่าน ท้องมาน

การป้องกัน มะเร็งตับ

มะเร็งตับ สามารถป้องกันได้โดย

                   1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด เพราะอาจทำให้ตับแข็งซึ่งกลายเป็นมะเร็งตับได้ ถ้าตรวจพบพาหะของเชื้อไวรัส ตับอักเสบชนิดบีหรือซีควรงดดื่มโดยเด็ดขาด

                   2. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบๆ

                   3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซินเช่น ถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นราสารนี้มีความทนต่อความร้อน  ไม่ถูกทำลายแม้จะปรุงด้วยความร้อน

                   4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีนเช่น อาหารโปรตีนหมักดอง  รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ ผสมดินประสิว หากจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารนี้เสียก่อน

                    5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีตั้งแต่แรกเกิด หรือในกรณีที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัส

                    6. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรรักษาให้หายขาด

โรคพยาธิใบไม้ตับ  สามารถป้องกันได้โดยการไม่กินปลาน้ำจืดอย่างดิบๆ และถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมียาที่ใช้ฆ่าพยาธิใบไม้ตับอย่างได้ผลแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่เลิกนิสัยการกินปลาดิบๆ และถ่ายกลางทุ่ง ก็ยังคงติดโรคพยาธิซ้ำ,ๆ ซาก,ๆ เรื่อยไปอยู่ดี

นอกจากทำให้สิ้นเปลืองค่ายารักษาแล้ว ยังอาจไม่มีผลต่อการป้องกันโรคแทรกซ้อนอีกด้วย

 1. ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ สามารถตรวจหามะเร็งตับในระยะแรกเริ่มได้ โดยการเจาะเลือดตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (alpha fetoprotein) ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูง เช่น ผู้ป่วยโรคตับแข็งผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสชนิดบีชนิดบีหรือซีเรื้อรัง หรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ แพทย์จะแนะนำให้หมั่นตรวจเลือดหาสารนี้และตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ (ทุก 3-6 เดือน) อาจช่วยให้มีทางตรวจพบมะเร็งระยะแรกเริ่มได้

                2. สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะท้าย  แม้ว่าจะไม่สามารถให้การรักษาให้หายหรือมีชีวิตยืนยาวได้ ก็ควรได้รับการดูและรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ญาติควรให้กำลังใจผู้ป่วยและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

การรักษา มะเร็งตับ

มะเร็งตับ ถ้าสงสัย ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือด (พบระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง) อัลตราซาวนด์  ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สแกนตับตรวจชิ้นเนื้อตับ

การรักษา ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะแรก (เช่น ตรวจกรองพบโรคนี้ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ) ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออก หรือทำการ ปลูกถ่ายตับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาดได้

                แต่ถ้าพบมะเร็งตับระยะท้าย (ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบเมื่อปรากฏอาการชัดเจนแล้ว) มักจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีโดยเฉลี่ย (บางรายอาจอยู่ได้นานหลายปี) เพียงแต่ให้การรักษาเพื่อหยุดยั้งมะเร็งให้นานที่สุดเท่าที่) จะทำได้ เช่น การให้เคมีบำบัด การฉายรังสี การฉีดยา ฆ่ามะเร็งและสารอุดตันเข้าหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งให้ก้อนยุบลง (transarterial chemoembolization/TACEและtranscatheter oily chemoembolization/TOCE) การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยผ่านทางผิวหนัง(percutaneous ethanol injection/PEI) อิมมูนบำบัด (immunotherapy) ฮอร์โมนบำบัด (hormonetherapy) เป็นต้น และให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ลดอันตรายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ให้ยาบรรเทาปวด ให้เลือด (ถ้ามีเลือดออก) การใส่ท่อระบายน้ำดี (ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี) เพื่อบรรเทาอาการคันและดีซ่าน เป็นต้น

               โรคพยาธิใบไม้ตับ ถ้าสงสัย ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจอุจจาระ และถ้ามีอาการรุนแรงอาจต้องตรวจเลือด  เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ สแกนตับ (liver scan) ตรวจพิเศษอื่น ๆ 

               ในรายที่ยังไม่มีโรคมะเร็งแทรกซ้อน ในปัจจุบันมียาที่ใช้กำจัดพยาธิใบไม้ตับได้ผลดี เช่น พราซิควานเทล อัลเบนดาโซล

[Total: 2 Average: 5]