หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบ  คือ โรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบมากในทารกและเด็ก สามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน  และชนิดเรื้อรัง

สาเหตุ หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute  otitis media)

มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ)  ได้แก่ไข้หวัด และทอนซิล อักเสบ บางรายอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของหัด ไข้หวัดใหญ่ ไอกรม  ทำให้เชื้อโรคบริเวณ คอผ่านท่อยูสเตเชียน (Eustachian  tube) เข้าไปในหูชั้นกลาง เกิดการอักเสบ ทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม   และมีหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง เพราะไม่อาจระบายผ่านท่อยูสเตเชียนที่บวมและอุดตันได้ในที่สุดเยื่อแก้วหู (ซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ  กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นกลางกับหูชั้นนอก) ก็จะเกิดการทะลุ เป็นรูหนองที่ขังอยู่ภายในก็จะไหลออกมากลายเป็นหูน้ำหนวก

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis  media)

ซึ่งเป็นภาวะที่มีการทะลุของเยื่อแก้วหู และมีหูน้ำ หนวกไหลแบบเรื้อรัง (โดยมากจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็ก) อาจเป็นผลมาจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจนแก้วหูทะลุ ก็ได้  เด็กที่ขาดอาหารหรือสุขภาพไม่แข็งแรง หรือขาดสุขนิสัยจะ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กที่แข็งแรง  บางครั้งอาจ พบร่วมกับผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ไซนัส อักเสบเรื้อรัง ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก 

อาการ หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน 

มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอหรือเป็นโรคติด เชื้อของทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยจะมีอาการปวดในรูหู (แต่ดึงใบหูจะไม่เจ็บมากขึ้น) หูอื้อมีไข้สูงหนาวสั่นบางรายอาจมีอาการบ้านหมุนคลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเดิน

                ในทารกจะมีอาการตื่นขึ้นร้องกวนกลางดึก (ด้วยอาการเจ็บปวด) และร้องงอแงเกือบตลอดเวลา  บางรายอาจเอามือดึงใบหู  เด็กมักมีไข้สูง  บางรายอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง เด็กมักมีอาการของไข้หวัดหรือไอร่วมด้วย

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวกเรื้อรัง)

 มีอาการหูน้ำหนวกไหลเป็นๆ หาย ๆ เรื้อรังร่วมกับมีอาการหูอื้อ หูตึงหูน้ำหนวก มักเกิดขึ้นเวลาเป็นหวัดเจ็บคอ หรือหลังจากเล่นน้ำ  มีลักษณะเป็นหนองสี เหลืองหรือสีเขียวบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยส่วนมากจะไม่มีไข้หรือเจ็บปวดในรูหูแต่อย่างใด

สิ่งตรวจพบ

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน

ในระยะแรกอาจจะมีไข้ การตรวจดูหูโดยใช้เครื่องส่องหู(otoscope) จะเห็นเยื่อแก้วหูโป่งออกและเป็นสีแดงเรื่อ ๆ

ในระยะต่อมามีการทะลุของเยื่อแก้วจะตรวจพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูและมีหนองไหลในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีไข้และหายปวดหู

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

ใช้เครื่องส่องหูจะพบ เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง ถ้าทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู มักจะเป็นชนิดที่มีอันตรายร้ายแรงได้

ภาวะแทรกซ้อน    

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน 

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบ เรื้อรังหูชั้นในอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และบ้าน หมุน) โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (mastoiditis) ซึ่งจะมีไข้สูงร่วมกับปวดตรงบริเวณ กระดูกมาสตอยด์ตรงหลังหู) อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก หูหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง 

อาจทำให้เกิดโพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ ฝีรอบๆ หูหูชั้นในอักเสบ หูหนวกสนิท (เนื่องจากกระดูกนำเสียงภายในหูถูกทำลาย) หรือทำลายประสาทใบหน้า ทำให้กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก เชื้ออาจลุกลามเข้าสมอง ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีสมอง เป็นอันตรายได้

การป้องกัน หูชั้นกลางอักเสบ

  1. ขณะที่มีหูน้ำหนวกไหล หรือเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าหู (อย่าดำน้ำหรือเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง) และระมัดระวังอย่าให้เป็นหวัดบ่อยถ้าเป็นควรรีบกินยารักษา
  2. การป้องกันมิให้เป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรังอาจกระทำได้โดยการรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอย่างถูกต้อง อย่าปล่อยปละละเลย
  3. ในปัจจุบัน แม้ว่าโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง พบได้น้อยลง แต่ยังอาจพบได้ประปรายในเด็กนักเรียนที่ขาดสุขนิสัยที่ดี ซึ่งบางรายก็อาจเป็นชนิดอันตรายที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนำแรงได้

ดังนั้น ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบ งานอนามัยโรงเรียน ควรพยายามค้นหาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกเรื้อรังและส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเสีย แต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่เด็กในภายหลัง

การรักษา หูชั้นกลางอักเสบ

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน               

1.  ให้ยาแก้ปวดลดไข้  และยาปฏิชีวนะ เช่นอะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาดชล หรือ อีริโทรไมซิน

2.  ถ้าอาการดีขึ้นใน 2 – 3 วันควรให้ยาปฏิชีวนะจนครบ 10 วัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาลอาจต้องใช้เข็มเจาะระบายหนองออกจากเยื่อแก้วหูเรียกว่า การเจาะเยื่อแก้วหู (myringotomy) เยื่อแก้หูจะปิดได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ 

                ผลการรักษา ส่วนมากจะหายขาดได้ ในรายที่ได้รับยาไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลัง

หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

  1. หมั่นใช้ไม้พันสำลีเช็ดหูให้แห้ง แล้วใช้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะ วันละ 3 – 4 ครั้งจนกว่าหนองจะแห้ง ก่อนหยอดยาทุกครั้งควรเช็ดหนองให้แห้ง ถ้ามีอาการอักเสบกำเริบเฉียบพลัน (เช่น มีไข้ปวดหู)ให้กินยาปฏิชีวนะ นาน 10 วัน
  2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 สัปดาห์ หรือมีอาการหูหนวกหูตึงมาก เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหูมีฝีขึ้นที่หลังหู หรือมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์หูและตรวจพิเศษอื่นๆ แล้วแก้ไขตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น รักษาไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก เป็นต้น ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกนำเสียง และเยื่อแก้วหูเทียม (tympanoplasty) ซึ่งจะช่วยให้การได้ยินดีขึ้น
  3. ในรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง หรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีสมอง แทรกซ้อนควรส่งโรงพยาบาลด่วน
[Total: 0 Average: 0]