โรคไข้กาฬหลังแอ่น

โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ชื่อ Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างกลมคล้ายเม็ดถั่ว เรียงตัวเป็นคู่ๆ โดยหันด้านเรียบเข้าหากัน ไม่สร้างสปอร์  เชื้อที่ก่อโรคมีอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ A, B, C, Y, X,และ W-135 เชื้อนี้พบในลำคอของคนปกติโดยไม่ทำให้เกิดโรคประมาณร้อยละ 5 ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดอาการของโรคแต่มีความรุนแรงและอัตราตายสูง พบได้ประปรายตลอดทั้งปี และมีการระบาดในบางพื้นที่เป็นครั้งคราว ระยะฟักตัวของโรคไข้กาฬหลังแอ่นประมาณ 2-10 วัน โดยเฉลี่ย 3-4 วัน

อาการ โรคไข้กาฬหลังแอ่น

อาการที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง, ขา, เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง, ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา, หรือ มือได้ หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ในรายที่รุนแรง เช่น ในกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว  ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด ร่วมด้วย มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึงร้อยละ  70-80 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด อัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณร้อยละ 2-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีมีส่วนช่วยลดอัตราการตายลงได้ส่วนหนึ่ง

สาเหตุ ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่นมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) เมื่อเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแสดงอาการให้เห็นประมาณ 4 วัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ คือมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ผ่านการจูบ การกอด และการหายใจ ไอ จามรดกัน หรืออยู่ใกล้ชิดกัน โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นคือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • อายุ ทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น
  • ที่อยู่อาศัย อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แออัด
  • มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยไม่มีม้ามในร่างกาย
  • เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเชื้อ เช่น ผู้ที่ทำงานกับเชื้อดังกล่าวโดยตรง หรือผู้ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นอย่างใกล้ชิด

การรักษา ไข้กาฬหลังแอ่น

ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นต้องได้รับการรักษาทันที จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และพักฟื้นในห้องแยกเพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียแพร่กระจาย

ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ เพื่อจัดการกับการติดเชื้อ โดยได้รับเป็นรูปของเหลวทางหลอดเลือดดำ (IV)

การรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการที่ผู้ป่วยมี หากผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ จะได้รับออกซิเจน หากความดันโลหิตของผู้ป่วยต่ำเกินไป แพทย์จะให้ยา Fludrocortisone และ midodrine เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตต่ำ

โรคไข้กาฬหลังแอ่นทำให้เลือดออกผิดปกติ เมื่อผู้ป่วยมีอาการนี้ แพทย์จะทำการบำบัดทดแทนเกล็ดเลือด

ในบางกรณีแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแก่ผู้ใกล้ชิดแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม วิธีนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ ยาปฏิชีวนะที่แพทย์ให้ได้แก่ Rifampin (Rifadin), Ciprofloxacin (Cipro) หรือ Ceftriaxone (Rocephin)

[Total: 0 Average: 0]