ชักจากไข้ คือ อาการชักที่เกิดขึ้นขณะมีไข้เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อใดชนิดหนึ่ง โดยไม่รวมถึง การติดเชื้อของสมองและเยื่อหุ้มสมอง
พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของการชักที่มีไข้ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ประมาณร้อยละ 3-5 ของเด็กในวัยนี้ เด็กที่มีอาการชักจากไข้มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องคนใดคนหนึ่งเคยชักจากไข้ด้วย
ชักจากไข้ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชักจากไข้ชนิดสามัญ (simple febrile seizure) และชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (complex febrile seizure)
เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการชักจากไข้ชนิดสามัญ และชักเพียงครั้งเดียว ประมาณร้อยละ 30–40 ที่อาจชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง และประมาณร้อยละ 10 ที่อาจชักซ้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป
สาเหตุ ชักจากไข้
อาการชักจากไข้ พบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี (พบมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรก) เนื่องจากสมองของเด็กกำหลังเติบโต จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากไข้ ซึ่งโดยมากขนาดไข้ที่จะทำให้ชักได้มักจะสูงเกิน 39 องศาฯ ขึ้นไป
ส่วนใหญ่มักมีไข้จากโรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด หัด ไข้ผื่นกุหลาบในทารก ท้องเสียจากไวรัส เป็นต้น นอกนี้ยังอาจเกิดจากบิดบิดชิเกลลา ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบ
อาการ ชักจากไข้
เด็กจะมีไข้ ร่วมกันอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย เป็นบิด เป็นต้น แล้วต่อมามีอาการชัก (ส่วนใหญ่จะชักแบบกระตุกทั้งตัว) ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น นานครั้งละ 2-3 นาที (มักไม่เกิน 5-15 นาที) โดยมากจะชักเพียง 1 ครั้ง หลังจากนั้นจะไม่ชักซ้ำอีก เด็กจะมีอาการทั่วไป ไม่ซึม ไม่มีอาการ แขนขาอ่อนแรง
ในรายที่มีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) จะชักนานเกิน 15 นาที หรือชักเกิน 1 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการชักเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือมีความผิดปกติของสมองร่วมด้วย
การป้องกัน ชักจากไข้
เด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มาครั้งหนึ่งแล้ว บางรายอาจมีอาการชักซ้ำได้อีกเมื่อมีไข้ขึ้น การป้องกันไม่ให้ ชักขากไข้ซ้ำ สามารถกระทำให้ดังนี้
- ทุกครั้งที่เด็กเริ่มที่ไข้ ควรให้ยาลดไข้พาราเซตามอลทันที ควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำบ่อยๆ ไม่ควรให้เด็กใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าหนา เพราะจะทำให้ตัวร้อนยิ่งขึ้น
- กินยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันแพทย์จะพิจารณาให้ยากันซัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล โซเดียมวาล โพรเอต (sodium valproate) เป็นต้น เฉพาะสำหรับเด็กบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีความผิดปกติของสมองหรือโรคลมชัก ร่วมด้วย โดยจะให้กินอย่างต่อเนื่องทุกวันนานเป็นแรมปี บางรายอาจให้ทานหลายปี
ส่วนอาการชักจากไข้ที่ไม่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการชักจากไข้ชนิดสามัญ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยากันชักโดยไม่จำเป็นเนื่องเพราะยากันชักทุกชนิดมีผลข้างเคียงอาจมีโทษต่อเด็กมากกว่าอันตรายจากตัวโรคเอง
การรักษา ชักจากไข้
- ถ้าพบเด็กขณะมีอาการชักให้ถอดเสื้อผ้าเด็กออกแล้วใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกโปะทั้งตัว เปลี่ยนผ้าชุบน้ำใหม่ ทุก 2 นาที ถ้าชักนานเกิน 15 นาที ให้ไดอะซีแพม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเหน็บทางทวารหนัก ถ้าไม่หยุดชัก หรือมีอาการซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวหรืออาเจียนมาก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ในรายที่สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางสมอง อาจต้องทำการเจาะหลัง และตรวจพิเศษๆ เพิ่มเติม
- ในกรณีที่เด็กหยุดชักแล้ว ควรค้นหาสาตุของอาการไข้ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ควรส่งเด็กไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้าเด็กมีอาการชักเป็นครั้งแรก เด็กมีอายุต่ำกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 5 ปี หรือมีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน
แพทย์จะตรวจหาสาเหตุของการชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางสมอง สำหรับอาการชักจากไข้ครั้งแรก แพทย์อาจพิจารณาทำการเจาะหลังในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือนหรือได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาก่อน (เนื่องเพราะ เด็กกลุ่มนี้อาจเป็นโรคติดเชื้อทางสมองที่แสดงอาการไม่ชัดเจนก็ได้)
- ข้อเท็จจริงของโรคอัลไซเมอร์
- Stiff Person Syndrome คืออะไร? ความผิดปกติที่ Celine Dion กำลังประสบอยู่
- รู้ลึกเรื่องไซโคพาธ ผ่านซีรีย์เกาหลี A Superior Day