ในชีวิตการทำงานคงมีบ้างที่เราจะรู้สึกเหนื่อย เครียด ท้อ และรู้สึกหมดแรงที่จะทำงาน แต่หากการทำงานทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ตื่นเต้นกับอะไรใหม่ๆ ไม่พอใจในความสำเร็จ แต่กลับรู้สึกล้มเหลวและขาดประสิทธิภาพในการทำงาน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังประสบกับภาวะ Burnout Syndrome แล้วล่ะค่ะ
Burnout Syndrome หรือที่หลายคนเรียกว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก หรือการฝืนทำงานในอาชีพที่ไม่ใช่แนวทางของตัวเอง ซึ่งหากปล่อยให้ภาวะ Burnout Syndrome บั่นทอนสมดุลในการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ก็อาจนำพาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
4 วิธีด้านล่างนี้ จะช่วยให้ทุกคนรับมือกับอาการ Burnout Syndrome ได้ง่ายขึ้นค่ะ
1. มองหากิจกรรมคลายเครียด
สาเหตุหนึ่งของอาการ Burnout Syndrome เกิดความเครียดสะสม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความเครียดในการทำงานเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อเกิดภาวะนี้ เราควรมองหากิจกรรมและวิธีคลายเครียดที่ได้ผลในแบบของตัวเองค่ะเพราะไม่ใช่ว่ากิจกรรมคลายเครียดหนึ่งอย่างจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน แนะนำว่าแทนที่จะเสิร์จเน็ตดูว่าคนอื่นทำอะไรกันเพื่อคลายเครียด เราลองใช้เวลาสัก 5 นาทีนั่งนึกว่าวันนี้เราอยากทำอะไร วันนี้เราอยากไปเจอใคร และทำสิ่งต่างๆที่เราคิดไว้ค่ะ
2. ใส่ใจเรื่องอาหารและหมั่นดูแลสุขภาพ
ร่างกายที่เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียจะส่งสัญญาณความเหนื่อยล้าไปถึงจิตใจได้ บางครั้งการนอนน้อยอาจเป็นสาเหตุหลักของความรู้สึกไร้เรี่ยวแรงในการทำงาน ดังนั้นคุณจึงควรใส่ใจเรื่องเวลานอนอย่างเคร่งครัด ร่างกายควรได้พักผ่อน 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นอกจากนี้คุณควรใส่ใจเรื่องการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย หลีกเลี่ยงการกินกาแฟและน้ำตาล ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มความเครียดและส่งผลให้ภาวะของเราแย่ลงได้ค่ะ
3. Work – Life Balance
การทำงานหนักจนส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจไม่ใช่คำตอบของชีวิตแน่นอน วัยกลางคนที่มักทุ่มเทเอาแต่ทำงานจนลืมเรื่องต่างๆ รวมถึงความสำคัญด้านอื่นในชีวิต บ่อยครั้งต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพใจและสุขภาพกายที่เรื้อรัง แก้ไขได้ยากดังนั้นเราควรลำดับความสำคัญในชีวิตให้ชัดเจนและมีระบบกว่านี้ เช่นถ้าคุณเป็นคนที่ทำงานหรือเสพติดความ Productive ในชีวิตแล้ว อย่างน้อยก็ควรจำกัดการทำงานของตัวเองเอาไว้ว่า 1 สัปดาห์ทำได้สูงสุดกี่ชั่วโมง หรือหากคุณเป็นฟรีแลนซ์ที่รับงานอย่างต่อเนื่อง ใน 1 เดือนก็ควรมีวันหยุดที่กันเอาไว้ชัดเจนว่าจะได้หยุดเมื่อไรและกี่วัน
4. ทบทวนเนื้องานว่าใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่?
หากลองทำตามทั้ง 3 ข้อแล้ว ก็ยังรู้สึกหมดแรงและไม่ใจให้การทำงานอยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องลองประเมินตัวเองแล้วว่างานที่ทำอยู่สอดคล้องกับความชอบ ความสนใจ และความถนัดของคุณอยู่หรือเปล่าหากคุณรู้สึกว่างานคืองานที่ใช่ แต่คุณรู้สึกเก่งไม่พอเลยเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการทำงานแบบนี้ต่อไป การศึกษาต่อหรือหาความเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเองอาจเป็นคำตอบสุดท้ายของคุณ แต่หากงานที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่คุณชอบและสนใจแล้ว การเริ่มมองหางานใหม่ที่คุณสนใจ และมีใจอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า
สุดท้ายนี้อย่าปล่อยให้กว่าจะรู้ตัวก็ Burnout ไปหมดแล้ว การหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของกายและใจตัวเองเป็นสิ่งที่ควรทำและทำได้ทุกวัน ถ้าคุณรู้สึกว่าช่วงนี้ปัญหาส่วนตัวเยอะเกินไป การเลือกทำงานให้น้อยลงและมีคุณภาพมากขึ้นก็เป็นเรื่องจำเป็น กลับกันหากคุณรู้สึกว่าปัญหาการทำงานเยอะเกิน จนไม่สามารถโฟกัสกับการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆได้ คุณต้องหยุดและทบทวนแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และมีทางไหนในการแก้ไขได้บ้าง..นอกจากสังเกตตัวเองแล้ว
เราก็ควรหมั่นสังเกตคนรอบตัวและคนที่เราห่วงใยด้วย ว่าเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงานและการใช้ชีวิตกันอยู่หรือเปล่า บ่อยครั้งที่อุปสรรคและปัญหาเป็นเรื่องยาก แต่หากมีที่ปรึกษาและแรงสนับสนุนชั้นดี ก็ย่อมช่วยให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านภาวะหมดไฟเหล่านั้นไปได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
Iconic Women Alliance