เนื้องอกลำไส้ใหญ่ คือ ติ่งเนื้อ (Polyp) ที่หากเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่อาจเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ยังอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือเกือบเป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม โดยมีเยื่อบุผนังภายในลำไส้ใหญ่ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารพิษที่อยู่ในอาหารโดยเฉพาะอาหารมัน ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นเวลานานหลายปี ประกอบกับมีความผิดปกติที่ ยีน (gene) หรือสารพันธุกรรมจนเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ หรือเรียกว่า การกลายพันธุ์ (mutation) เกิดเป็นเนื้องอกเล็กๆ ขึ้น ซึ่งเนื้องอกนี้ยังไม่ใช่มะเร็ง เป็น ระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous) ต่อมาเนื้องอกเล็กๆ นี้จะกลายพันธุ์ และแบ่งตัวหลายๆ ครั้งจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความผิดปกติของลักษณะเซลล์มีมากขึ้นจนถึง ระยะเกือบเป็นมะเร็ง (severe dysplasia) ยิ่งมีขนาดใหญ่โอกาสเป็นมะเร็งก็สูงขึ้น การเป็นมะเร็งระยะแรกจะเกิดที่ผิวของก้อนเนื้องอกเท่านั้น ยังไม่ลุกลามถึงเส้นเลือดฝอยเล็กๆ และเส้นน้ำเหลือง จึงเรียกมะเร็งระยะนี้ว่า ระยะไม่ลุกลาม และค่อยๆ พัฒนากลายเป็นชนิด ลุกลาม (Invasive Carcinoma) ในที่สุด การเกิดติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกเล็กๆ นี้มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผนังลำไส้ เรียกว่า Polyp แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีก้าน (Pedunculated Type) และ ชนิดไม่มีก้าน (Sessile Type)
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร จนติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่และกลายเป็นมะเร็งแล้วจึงเริ่มมีอาการเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่าติ่งเนื้อนั้นจะมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว นอกจากนี้ยังใช้ร่วมกับเทคนิคการย้อมสีพื้นผิวและเส้นเลือดของติ่งเนื้อ ด้วยแสงชนิดพิเศษที่เรียกว่า Magnify Narrow Band Imaging, Magnify NBI ทำให้สามารถบอกได้ว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นติ่งเนื้อชนิดใด กลายเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง มีการลุกลามแล้วหรือไม่ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับติ่งเนื้อนั้น ๆ
เมื่อมีการตรวจพบติ่งเนื้อจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อออก ก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ตรงจุดและปลอดภัยกับร่างกายมากที่สุด นอกจากนี้ด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า Endoscopic Submucosal Dissection หรือ ESD ทำให้สามารถตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ ที่แม้บางส่วนมีการกลายเป็นมะเร็งแล้ว แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ออกได้ผ่านทางกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดหน้าท้อง และในบางรายไม่ต้องยกลำไส้เปิดทางหน้าท้อง (colostomy)โดยไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ หลังจากการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วผู้ป่วยควรเข้ารับการส่องกล้องติดตามอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
อย่างไรก็ตาม การส่องกล้องเพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ เปรียบเสมือนการตรวจเช็กร่างกาย โดยไม่ต้องรอให้เกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ และควรเลือกตรวจกับแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่แม่นยำ พร้อมกันนี้ ควรลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่, อาหารแช่แข็ง, หรืออาหารที่แปรรูปมาแล้ว เช่น เนื้อแดงและไส้กรอก
สาเหตุ เนื้องอกลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีปัจจัยมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม
อาการ เนื้องอกลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) อาจแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น
- ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ
- ก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด หากเป็นมาก
- ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
- ปวดท้องน้อย
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
การรักษา เนื้องอกลำไส้ใหญ่
การรักษาเนื้องอกลำไส้ใหญ่ (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) โดยทีมแพทย์สหสาขา ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์ ด้วยยา และเครื่องมือทันสมัย ร่วมกับเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ไม่เพียงเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ยังช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย เพราะการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มโอกาสการเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักได้มากขึ้น ภายหลังการรักษาผู้ป่วยสามารถถ่ายอุจจาระทางทวารหนักได้และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
ทั้งนี้รายงานจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำของโลกระบุว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการรักษาเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ไม่ได้เพียงแต่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาในทุกมิติเท่านั้น การร่วมมือกันของแพทย์ผู้ชำนาญการและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการร่วมกันวิเคราะห์โรคและสรุปแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร อายุรแพทย์มะเร็ง รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา พยาธิแพทย์ จะทำให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การให้การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา อาจลดอัตราการผ่าตัดเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ที่จะต้องมีการถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (Colostomy) ได้ ทั้งนี้การใช้เทคนิคการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักผู้ชำนาญการเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ
การพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดรักษาเนื้องอกลำไส้ใหญ่ (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) โดยใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS หรือ Minimally Invasive Surgery) ด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก เทคนิคเก็บกล้ามเนื้อหูรูด ไร้ถุงหน้าท้องถาวร จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด เจ็บน้อย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับศูนย์การแพทย์ที่มีความพร้อมระดับสากลอาจจำเป็นต้องมีทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องแบบสหสาขาวิชาชีพเพื่อความพร้อมในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ที่มีการลุกลามของโรคไปในอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ