โรคโบทูลิซึม คือ โรคที่เกิดจากสารพิษ botulinum ที่สร้างมาจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งเป็นเชื้อที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะออกซิเจนต่ำ การเกิดโรคเกิดจากการกินสารพิษของเชื้อหรือกินเชื้อเข้าไปแล้วเชื้อสร้างสารพิษในร่างกาย เป็นที่ทราบกันว่าสารพิษ botulinum เป็นสารพิษที่มีความรุนแรงมากที่สุด โรคนี้สามารถก่อโรคได้ในสัตว์หลายชนิดรวมทั้งคนโดยจะมีอาการคล้ายกัน การเกิดโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถทำ ให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา
โรคนี้จําแนกออกได้เป็น 4 รูปแบบ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนี้
- โรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Foodborne botulism) เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาทของเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียมเข้าไป
- โบทูลิซึมที่บาดแผล (Wound botulism) เกิดจากสปอร์ของ Clostridium botulinum เกิดการงอกและผลิตสารพิษออกมา ได้ปนเปื้อนเข้าสู่บาดแผล เชื้อจะเจริญเพิ่มจํานวนในสภาวะที่มีออกซิเจนตํ่าโดยทั่วไปจะพบเกี่ยวของกับการบาดเจ็บรุนแรงอาการจะคล้ายกับโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม แต่อาจใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ จึงจะเริ่มแสดงอาการ
- โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) เกิดจากการสรางโคโลนีของเชื้อในทางเดินอาหารของทารก มักเกิดในเด็กอายุตํ่ากว่า 12 เดือน ส่วนใหญ่พบในเด็กทารกอายุระหว่าง 6 สัปดาห์ – 6 เดือน อาการที่พบในเด็กทารกเริ่มด้วยท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ดูดกลืนลําบาก ร้องไห้เสียงเบา และคออ่อนพับ
- โรคโบทูลิซึมจากลําไส้เป็นพิษในผู้ใหญ่ (Adult intestinal toxemia botulism)
สาเหตุ โรคโบทูลิซึม
พบได้ทั่วโลก มักพบผู้ป่วยประปรายในครอบครัว การระบาดในชุมชนพบได้น้อยมาก ที่พบมักเกิดจากอาหารกระป๋องที่กระป๋องอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์
ที่พบการระบาดในคนมักเกิดจากสารพิษ type A, B และ E อาจพบ type F และ G ได้แต่น้อย การระบาดของ type E การระบาดของ type E มักพบสาเหตุจากเนื้อปลา อาหารทะเล มักพบจากการปรุงอาหารกระป๋องที่ไม่ถูกวิธี สารพิษจะถูกทำลายด้วยความร้อน แต่การทำลายสปอร์ต้องใช้ความร้อนสูงกว่ามาก สารพิษ type E สามารถสร้างขึ้นอย่างช้า ๆ ที่อุณหภูมิต่ำกว่าตู้เย็นธรรมดา คือ ต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส
อาการ โรคโบทูลิซึม
เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากสารพิษที่รุนแรง โดยรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งแตกต่างจาก infant botulism ที่เชื้อจะสร้างสารพิษในลำไส้ ลักษณะอาการที่สำคัญจะเกิดกับระบบประสาทของร่างกาย ได้แก่ หนังตาตก ตามัว หรือเห็นเป็นสองภาพ ปากแห้ง และเจ็บคอ เป็นอาการนำ อาการเหล่านี้อาจจะตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อสองข้างเท่ากัน ในผู้ป่วยที่ยังรู้สติดี อาจพบอาการอาเจียนและท้องเดินในระยะแรกของโรค มักไม่มีไข้ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 3 – 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ จากการหายใจล้มเหลวหรือการติดเชื้อแทรกซ้อน
การรักษาด้วยการช่วยหายใจและให้สารต้านพิษโดยเฉพาะ จะช่วยลดอัตราป่วยตายในระยะที่หาย การฟื้นตัวจะค่อนข้างช้า (เป็นเดือนหรือในบางรายเป็นปี) การวินิจฉัยกระทำได้โดยตรวจพบสารพิษเฉพาะในน้ำเหลืองหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือการเพาะเชื้อพบ Clostridium botulinum การตรวจพบเชื้อในอาหารที่สงสัย อาจไม่ช่วยในการวินิจฉัย เนื่องจากสปอร์ของเชื้อนี้ตรวจพบได้จากสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการตรวจพบสารพิษจึงสำคัญกว่า
การรักษา โรคโบทูลิซึม
ผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งแพทย์จะรักษาตามชนิดของโรค โดยวิธีรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้
ประเมินสภาวะการหายใจ ในขั้นแรกแพทย์จะประเมินสภาวะการหายใจของผู้ป่วย หากไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้หรือหายใจลำบาก อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนั้น แพทย์จะงดให้น้ำและอาหารทางปากแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันผู้ป่วยสำลักน้ำหรืออาหารลงปอด
การใช้ยา ยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน ได้แก่
- ยาต้านพิษ มีฤทธิ์ทำลายสารพิษที่อยู่ในเลือด และช่วยประคับประคองอาการป่วยไม่ให้รุนแรงขึ้น
- ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย มักใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมทางบาดแผล
การบำบัด เมื่ออาการป่วยเริ่มคงที่ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเพื่อฟื้นฟูการทำงานด้านต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การกลืน การพูด การเคลื่อนไหวแขนและขา เป็นต้น