เนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมอง  หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายใน กะโหลกศีรษะ ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มหลายชนิด
              โรคนี้พบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูง  อายุ ส่วนกลุ่มอายุที่พบบ่อยนั้นขึ้นกับเนื้องอกสมองแต่ละชนิด กล่าวโดยรวมแล้ว โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 40 -70 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดทุติยภูมิ  หรือมะเร็งที่แพร่กระจ่ายมาจากที่อื่น ส่วนในเด็กพบมากใน กลุ่มอายุ 3 -12 ปีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดปฐมภูมิ
               เนื่องงอกสมองเป็นเนื้องอกที่พบได้มากที่สุดในบรรดาเนื้องอกที่พบในเด็ก
               โรคนี้มักมีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ พบว่าผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ100,000 คน มีสาเหตุจากเนื้องอกสมอง ประมาณ10 คน

สาเหตุ เนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิ ยังไม่ทราบสาเหตุว่า เกิดจากอะไร เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรรมพันธุ์ (เนื้องอกสมองบางชนิด พบว่าเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (เช่น รังสี สารเคมี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น) แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน

เนื้องอกสมองชนิดทุติยภูมิ ส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด

อาการ เนื้องอกสมอง

ผู้ป่วยมักมีอาการปอดศีรษะเรื้อรังโดยมีลักษณะเฉพาะ คือ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสาย ๆ ค่อยยังชั่ว หรืออาจปวดมากเวลาล้มตัวลงนอน หรือเวลาไอจาม หรือบ่งอุจาจาระ อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นทุกวัน จนผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นนอนเช้ามืดเพราะอาการปวดศีรษะ

ระยะต่อมา (เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น) จะมีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจมีลักษณะอาเจียนพุ่งรุนแรง โดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการตามมัวลงเรื่อยๆ เห็นภาพซ้อน หูอื้อ ตาเหล่ ตากระตุก บ้านหมุน เดินเซ มือเท้าทำงานไม่ถนัด แขนขาหรืออ่อนแรงชัก ซึ่งอาจชักทั้งร่างกายหรือเฉพาะส่วนของร่างกาย ความจำเสื่อมหรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

ในรายที่เป็นเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary tumor) นอกจากจะมีอาการดังกล่าวแล้วอาจมีอาการของ โรคคุชชิง หรือเบาจืด หรือรูปร่างสูงใหญ่ ผิดปกติ (giantism หรือ acromegaly) ถ้าพบในผู้หญิงอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือมีน้ำนมออกผิดธรรมชาติ

การป้องกัน เนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมองอาจพบในเด็กหรือคนอายุน้อยได้ ผู้ป่วยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอาการปวดศีรษะรุนแรง และถี่ขึ้นทุกวัน หรือปวดตอนเช้ามืดทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือปวดเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนาน เกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการของโรคลมชักที่เพิ่งเกิดขึ้น ครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 25 ปี ควรรีบไปพบแพทย์

การรักษา เนื้องอกสมอง

ถ้าสงสัย ควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์กะโหลกศีรษะถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจชิ้นเนื้อสมองเพื่อพิสูจน์ชนิดของเซลล์เนื้องอก

การรักษา มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป ยกเว้นเนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามมากแล้ว ก็อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัดด้วยรังสี (radio surgery) หรือมีดแกมมา (gamma knife)

ในรายที่เป็นมะเร็ง (เช่น medulloblastoma‚ malignant gliomas) อาจต้องรักษาด้วยรังสีบำบัด (ฉายรังสี) ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับการผ้าตัด และบางกรณี อาจต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมด้วย

ในรายที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (shunt operation)

ผลการรักษาขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก อายุและสภาพของผู้ป่วย

ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง(meningioma) เป็นต้น การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือหายขาด
แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามเร็ว (เช่น glioblastoma multiforme) หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่นก็มัก จะให้การรักษาแบบประทัง เพื่อลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

[Total: 4 Average: 5]