เอดส์

โรคเอดส์/กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง (aquired immunodeficiency syndrome/AIDS) คือ โรคที่เกิดจากไวรัสเอชไอวี (human immunodeficiency virus/HIV) ชึ่งอยู่ในกลุ่ม retrovirus เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปเจริญอยู่ในเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า  “CD4 lymphocyte” (นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า CD4) และทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ จนในที่สุดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เป็นผลทำให้เกิดมะเร็งบางชนิด และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection ซึ่ง เป็นการติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งที่เป็นชนิดที่ก่อโรคในคนปกติทั่วไป และชนิดที่ปกติไม่ทำอันตรายต่อคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง) สมัยก่อนที่จะมีการใช้ยาต้านไวรัส(antiretrovirus/ARV) ในการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรง  เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน  (ประมาณ 2 – 3 ปี หลังการวินิจฉัย)

แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ดังที่เรียกว่า การใช้ยาต้านไวรัสความแรงสูง (highly active antiretro viral  therapy/ HAART) สามารถลดอัตราตายลงอย่างมาก และลดการดำเนินโรคจนเป็นเอดส์เต็มขั้นในผู้ติดเชื้อลงได้อย่างมีประสิทธิผล โดยยานี้ช่วยลดจำนวนเชื้อเอชไอวีลงและทำให้ CD4 lymphocyte (ซึ่งบ่งบอกถึงระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย) เพิ่มมากขึ้นจนลดการติดเชื้อฉวยโอกาส  ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงในปัจจุบันจึงถือว่าโรคเอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่สามารถให้ยาควบคุมจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้

สาเหตุ เอดส์

 เกิดจากเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่  เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ. 2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อจึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย

  1. ทางเพศสัมพันธ์  ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ หรือเกย์)
  2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อการแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น ส่วนมากใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ติดเชื้อการสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ก็ต่อเมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ
  3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก  ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์  ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอดโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาประมาณร้อยละ 20 – 50 จากการศึกษาในประเทศต่าง ๆ เท่าที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีการติดต่อโดย
    • การหายใจ ไอ จามรดกัน
    • การกินอาหาร  และดื่มน้ำร่วมกัน
    • การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน
    • การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
    • การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน  ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
    • การสัมผัส โอบกอด
    • การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
    • การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
    • การถูกยุงหรือแมลงกัด

 เชื้อเอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการเพิ่ม จำนวน สามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ได้หลังติดเชื้อ  2–6 สัปดาห์ และ ตรวจพบสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้หลังติดเชื้อ 3 -12 สัปดาห์  ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรค ให้กับผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม

อาการ เอดส์

เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน Cd4) ของร่างกาย ดังนั้นโรค นี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้

1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV imfection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั้งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 1 – 6 สัปดาห์ หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้  เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว  มีผื่นขึ้น  ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1 – 2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปเอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้ใหญ่หรือไข้ทั่ว ๆ ไป
ผู้ป่วยอาจซื้อยารักษาเอง  หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อในระยะนี้นี้จึงมักไม่ได้รับวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้

                ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรงมักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้น ๆ

                ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ใม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะตังกล่าวมักแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป  แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier) 

                ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลงโดยเฉลี่ยประมาณปีละ  50 – 75 เซลล์/ ลบ.มม จากระดับปกติ (คือ 600 – 1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4
จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

                ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5 – 10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2 – 3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10 – 15 ปี ขึ้นไป

3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ  เดิมเรียกว่า  ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (SIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้

ก. อาการเล็กน้อย  ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ /ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ  ดังนี้  

  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
  • โรคเชื้อราที่เล็บ  
  • แผลอัฟทัส  
  • ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค ที่ไรผม ข้างจมูก  ริมฝีปาก
  • ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น  ซึ่งขูดไม่ออก
  • โรคโซริอาซิส ที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

ข. อาการปานกลาง  ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม.ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ ก หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้

  • เริม  ที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
  • งูสวัด  ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
  • โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
  • ไข้เกิน 37.8องศาเซลเซียล แบบเป็น ๆหาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
  • ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณที่ไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 ดือน
  • น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง 
  • ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย

4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตชัววัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistc infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก  และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน

                ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้

  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
  • ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
  • ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรโตชัว
  • น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
  • ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
  • แขนขาชา หรืออ่อนแรง
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
  • สายตามัว มองไม่ชัด  หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
  • ตกขาวบ่อย
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruriticeruption)
  • ซีด
  • มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือไอทีพี
  • สับสน สมองเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ “ภาวะแทรกซ้อน”)
  • อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposis sarcoma (KS) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ในเด็ก ที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ 

ข้อแนะนำ เอดส์

1.สำหรับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ กลุ่มนี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงเช่นคนทั่วไป และสามารถดำเนินชีวิตไปตามปกติ บางรายอาจใช้เวลา 5-10 ปีกว่าจะจะป่วยเป็น เอดส์ บางรายก็ยังคงแข็งแรงดีแม้ติดเชื้อเกิน 10-15 ปี ขึ้นไป ผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการควรปฏิบัติดังนี้

                • ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ตาม ที่แพทย์แนะนำ และกินยาต้านไวรัสเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องมักจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะนานกว่า 10 ปีขึ้นไป หากสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยา ควรรีบไปแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับเปลี่ยนยา พยายามอย่าให้ขาดยา

                • ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่น และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกัน หรือหายใจรดผู้อื่น

                • หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน

                • เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังอาจเสียสุขภาพทางกายหรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย

                • ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

                • เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติสวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ บำเพ็ญประโยชน์ ทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น) ถ้ามีโอกาส ควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อ

                • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดย

                                -ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก

                                -ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

                                – งดการบริจาคเลือดหรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น  ดวงตา ไต เป็นต้น

                                – เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีแล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง

                                – ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น

                • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิดเพราะเด็กอาจมีโอกาสได้รับเชื้อจากมารดาได้

                • มารดาที่มีการติดเชื้อไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง

2. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ ควรปฏิบัติดังนี้

                • ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการโดยปรับให้เหมาะกับสภาพของร่างกาย เช่น ทำงานและ ออกกำลังกายแต่พอเหมาะ

                • กินยาและรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำ ของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรกิน ยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวันอย่าได้ขาด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีเช่นคน  ปกติทั่วไป

                •  เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่าง ๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น

                       – ใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูก เวลาไอ หรือจาม

                       – ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาล้างจานหรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่

                       – ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น

                       – การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทาง และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก

                       – สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะเสมหะ อาเจียน เป็นต้น เปรอะเปื้อนพื้นโถส้วม และอ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือนำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์ (Chlorox) เป็นประจำ และล้างมือหลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง

3. สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติ ดังนี้

                • ศึกษาให้มีความรู้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เอดส์อย่างถ่องแท้

                •  ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและ ความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด เป็นต้น และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยกินตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวันอย่าได้ขาด

                • หากผู้ป่วยมีบาดแผลหรือเปรอะเปื้อนเลือด หรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มีอาจใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้น แทนก็ได้

                • เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้องและนำไปแช่ในน้ำผสมผงซักฟอกขาวประมาณ 30 นาที เสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ

                • ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยส้วมถุงมือ และใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

                • เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการหินอาหารร่วมสำรับกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี

4. วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ จึงอยู่ที่การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสำคัญ

5. การบริจาคเลือดที่คลั่งเลือด ไม่มีโอกาสจะติดเชื้อเอชไอวี เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อุปกรณ์ชุดใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสจะปนเปื้อนเลือดของผู้อื่น

6. การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเอดส์ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลในการทำให้หายได้จริง นอกจากช่วยบรรเทาอาการให้สุขสบาย ช่วยเสริมสร้างกำลังใจและช่วยให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นชั่วขณะ หากจะใช้สมุนไพรรักษาควรศึกษาให้แน่ใจว่าไม่มีโทษ และราคาไม่แพง

7. ผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจเลือดพิสูจน์ อาจเป็นการติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกเริ่มก็ได้ หากพบว่า เป็นจริง การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่แรก รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัสมีส่วนช่วยชะลอไม่ให้โรคดำเนินสู่ระยะรุนแรงมากขึ้นได้

การรักษา เอดส์

1.ในรายที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงบริการ ผู้ที่ชอบเที่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เสรี ผู้ที่ฉีดยาเสพติดแม่บ้านที่สามมีมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น หนองใน ซิฟิลิส) ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ควรให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดพิสูจน์บน พื้นฐานของความสมัครใจ และต้องรักษาความลับใน กรณีตรวจพบเลือดบวก

                การตรวจเลือดเพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวี สามารถกระทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

   การตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบ สารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3 – 12  สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน) วิธีนี้ เป็นการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับวิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination lest (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลบวกก็ต้องตรวจยืนยัน โดยวิธีเวสเทิร์นบลอต(Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์

  การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน(ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) โดยวิธี PCR จะตรวจพบแอนติเจน หลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์

                ถ้าตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) แน่ชัด โดยไม่มีอาการก็จัดว่าเป็นผู้ติดเชื้อ โดยไม่มีอาการหรือพาหะ ควรให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง  และหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “ข้อแนะนำ”)

2.ในรายที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์  ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัย โดยการตรวจเลือด และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น  ทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ในรายที่สงสัยจะเป็นวัณปอด ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบ เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่องกล้องตรวจดูทางเดินอาหารในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อราแคนดิดา ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็ง เป็นต้น

                การตรวจเลือด  นอกจากตรวจยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังมีการตรวจนับ CD4 ทุก 3 – 6 เดือน และการตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load หรือ HIV-RNA) เป็นระยะเพื่อใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การตัดสินใจเริ่มให้ยารักษา การติดตาม การดำเนินของโรค และการปรับวิธีการรักษา

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์  มีหลักการรักษาคร่าว ๆ ดังนี้

ก.ให้ยาต้านไวรัส (anti retrovirus/ARV) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดโรคเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรค

                แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

•  เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection)  สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้

•  เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

•   เมื่อยังไม่มีอาการแสดง  แต่มีค่า CD4 200 – 350 เซลล์/ลบ.มม.อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นราย ๆไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง  มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย  เป็นต้น

                การให้ยาต้านไวรัส ควรอธิบายให้ผู้ป่วย และญาติทราบถึงความจำเป็นที่ต้องกินยาให้ตรงเวลาและ ต่อเนื่องทุกวัน และร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการอื้อยาหากกินยาไม่ต่อเนื่อง

                โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสความแรงสูง (HAART) ด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิดร่วมกัน เช่น GPO- vir S30 GPO-vir S40
เป็นต้น ก่อนให้ยาจะตรวจจำนวน CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด (viral load) 2 ครั้ง เพื่อใช้สำหรับเปรียบเทียบ หลังรักษา 4 – 8 สัปดาห์  ทำการเจาะเลือดซ้ำ ถ้าได้ผลดี ก็จะเจาะเลือดทุก 2 – 4 เดือน แต่ถ้ามีการลดของ CD4 ก็จะเจาะถี่ขึ้น

                 ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยา ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่

                ในการใช้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง  ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย  หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินอย่างต่อเนื่อง  

                นอกจากนี้ ยังอาจมีผลข้างเคียงเฉพาะของยาแต่ละตัว เช่น

                •  Indinavir ยังอาจทำให้เกิดนิ่วไต โรคกรดไหลย้อน

                •   Nelfinavir อาจทำให้ถ่ายเหลว (ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง) พบในสัปดาห์แรก ๆ ของการใช้ยา

•  Ritonavir อาจทำให้ชารอบปาก และเอนไซม์ตับสูง

•  Saquinavir  อาจทำให้ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นขึ้น

ข.ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย เช่น

วัณโรค  ถ้าตรวจพบว่ามีอาการเจ็บป่วยของวัณโรคก็ให้ยารักษาวัณโรค แต่ควรหลีกเลี่ยง สูตรยาวัณโรคที่มีไรแฟมพิซิน  เพราะยานี้ต้านฤทธิ์ยาต้านไวรัสกลุ่ม NNRTI (กลุ่ม 2) และ PI (กลุ่ม 3) ถ้าใช้สูตรยาที่มีไรแฟพิซิน ก็ต้องใช้ยาต้านไวรัสกลุ่ม NRTI (กลุ่ม 1) ล้วน ๆ เพียงกลุ่มเดียว

                ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่มีอาการแสดงของวัณโรค ก็ควรทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน ถ้าพบว่ามีตุ่มขนาด 5 มม.ก็ควรทำการให้ยาไอเอ็นเอช กินป้องกันนานอย่างน้อย 12 เดือน

•ปวดอักเสบ  จากเชื้อรานิวโมซีสติสจิโรเวชิ (pneumocystis pneumonia/ PCP) เมื่อมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล  กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาดของ ไตรเมโทพริม15 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ให้เพนทาไมดีน (pentamidine) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในขนาด 4 มก./กก.วัน หรือให้โคไตรม็อกซาโซล กินในขนาดของไตรเมโทรพริมทท15 มก./กก./วัน  ร่วมกับ แดปโชน (dapsone) กินในขนาด 100 มก./วัน โดยให้ยาขนาดใดขนานหนึ่งนาน 21 วัน

                ผู้ป่วยที่เคยเป็นปอดอักเสบ PCP มาก่อน มีประวัติโรคเชื้อราในช่องปาก หรือโรคติดเชื้อ ฉวยโอกาส หรือมี CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ควรให้ยาป้องกัน โดยให้ไตรม็อกซาโซลวันละ 1 – 2 เม็ด หรือ 2 เม็ด 3 วัน/สัปดาห์ หรือแดปโชน 100 มก.ทุกวัน

                โคไตรม็อกซาโซลยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา (toxoplasma)


•  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  จากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis)ให้ยาฆ่าเชื้อราแอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) 0.7-1 มก./ กก./วัน หยดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ นาน 14 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นฟลูโคนาโชล (fluconazle) หรือไอทรา โคนาโชล ขนาด 400 มก./วัน เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หรือจนกระทั่งผลการเพาะเชื้อราในน้ำไขสันหลังให้ผลลบอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะห่างกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เมื่อรักษาขั้นต้นจนหายแล้ว ควรให้กินฟลูโคนาโซล (fluconazole) 200 มก.ไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ

                   ยานี้ยังสามารถป้องกันโรคเชื้อราแคนดิดา (โรคเชื้อราในช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด) ซึ่งจะให้ในรายที่มีการติดเชื้อราชนิดนี้บ่อย ๆ

                •  โรคติดเชื้อราเพนิซิลเลียมมาร์เนฟไฟ ให้การรักษาและป้องกันด้วยไอทราโคนาโซล

                •  โรคเริมที่ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก  ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์  ถ้ากำเริบบ่อยก็อาจต้องให้กินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

                •  ผู้ป่วยที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ ลบ.มม. แพทย์จะให้กินอะซิโทรไมซิน (azithromycin) หรือคาริโทรไมซิน (clarithromycin) ป้องกันการติดเชื้อ Mycobacterium avium complex

ค. ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวมหรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ทุก 5 ปี และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (ถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน)

ง. การเสริมสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง ด้วยการให้การปรึกษาแนะแนว ให้กำลังใจให้การสังคม สงเคราะห์ตามความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วม กลุ่มมิตรภาพบำบัดหรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (selfheip group)

การป้องกัน เอดส์

สำหรับประชาชนทั่วไป

                • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่ คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)

                • ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดย เฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรีหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง

                • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาทไม่คิดป้องกันตัวเอง)

                • หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง

                • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

                • หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน)ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อ ด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น  แอลกอฮอส์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน,ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไอโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอ 1 ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10- 20 นาที

                •   ก่อนแต่งงาน  ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจ เซ็กโรคเอดส์  ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวกควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดให้อีกคนหนึ่ง 

                •  คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

•   หญิงตั้งครรภ์  ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง  ควรปรึกษาแพทย์  เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส  เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (จากการวิจัยพบว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง ประมาณ
 2 ใน 3)

                •   มาตรการในระยะยาว คือ การรณรงค์ให้เกิดค่านิยมใหม่และสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น  การเที่ยวหญิงบริการการติดยาเสพติด เป็นต้น

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์  ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วย ควรประยุกต์ใช้มาตรการป้องกัน (universal precautions) อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมถุงมือการใช้ผ้าปิดจมูกหรือหน้ากาก การใส่เสื้อคลุม หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เมื่อต้องปฏิบัติงานที่มีโอกาส สัมผัสถูกเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่ง หรือสิ่งขับถ่าย ของผู้ป่วยทุกคน (ไม่ว่าจะสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม)

                ในกรณีที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วยแล้วตำ ซึ่งเป็น อุบัติเหตุที่พบได้บ่อย (ในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ที่ถูกเข็มที่ใช้กับผู้ที่ติดเชื้อตำ มีดอกาสติดเชื้อประมาณร้อยละ 0.47) ควรรีบตรวจเลือดโดยเร็ว แล้วตรวจซ้ำในระยะ 3 เดือน และ 6 เดือนต่อมา

                ถ้าผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อเอชไอวีชัดเจนหรือ ตรวจเลือดผู้ป่วยพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (เลือดบวก) ควรให้ผู้ที่ถูกเข็มตำกินยาป้องกันโดยเร็วที่สุด (ภายใน 24 ชั่วดมงหลังถูกเข็มตำ) โดยการใช้ยาต้านไวรัส 3 ตัวร่วมกัน (เช่น AZT+ 3TC + indinavir) นาน 4 สัปดาห์

[Total: 1 Average: 4]