การรักษา ไขมันในเลือดสูง

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่น มีประวัติทางกรรมพันธุ์ของโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตหรือภาวะไขมันใน เลือดสูงอ้วนขาดการออกกำลังกาย ชอบกินอาหารมันๆ ดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ เป็นต้น) มีอาการผิดปกติ (เช่นพบกระเหลือง) หรือเป็นโรค (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต) จำเป็นต้องตรวจดูระดับไขมันในเลือด

                ส่วนคนทั่วไม่มีปัจจัยเสี่ยง เมื่อมีอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจดูระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุก 5 ปี 

การรักษา แพทย์จะทำการตรวจเพื่อประเมินสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการ เมตาบอลิก รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน และให้การดูแลรักษา โดยแนะนำการปรับพฤติกรรม และ พิจารณาให้ยารักษาตามเกณฑ์  รวมทั้งให้การรักษาโรคหรือภาวะเสี่ยงที่พบร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น 

                ในรายที่ระดับไขมันสูง ในขนาดที่ยังไม่ต้องให้ยา ลดไขมัน จะให้ผู้ป่วยลองปรับพฤติกรรมนาน 3-6 เดือน หากควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงค่อยพิจารณาให้ยาลดไขมัน ซึ่งมีแนวทางดังนี้

                 เลือกใช้ยาลดไขมันตามชนิดของความผิดปกติ ที่พบเช่นในรายที่มีแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูงหรือ คอเลสเตอรอลรวมสูง โดยไตรกลีเซอไรด์ปกติมักจะเลือกใช้ยากลุ่มสแตติน ยากลุ่มเรซิน หรือกรดนิโคตินิก เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน ถ้าคุมไม่ได้หรือมีค่าสูงมาก ๆ ก็จะให้สเตตินร่วมกับยากลุ่มแรซินหรือโพรบูคอล แต่ถ้ามีไตรกลีเซอไรด์สูงร่วมด้วยก็จะให้สแตตินร่วมกับยา กลุ่มไฟเบรต หรือกรดนิโคตินิก

                ในรายที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเพียงอย่างเดียว โดยแอลดีแอลปกติ (<130  มก./ดล.) และคลอเลสเตอร รวมปกติ (< 200 มก./ดล.) ก็จะให้ยากลุ่มไฟเบรตหรือ กรดนิโคตินิก

                 ก่อนให้ยากลุ่มสแตตินและไฟเบรต  ควรตรวจเลือดดูว่าการทำงานของตับและไต ถ้าพบว่าเอนไซม์ตับ (AST, ALT) มีค่ามากกว่า 3  เท่าของค่าปกติ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ถ้าพบว่าครีอะตินีนมีค่ามากกว่า 2 มก./ดล. ก็ควรลดขนาดของยากลุ่มไฟเบรต และหากครีอะตินีนมีค่ามากกว่า 4 มก./ดล. ก็ไม่ควรให้ ยากลุ่มนี้

                 หลังให้ยาลดไขมัน 6-12 สัปดาห์ ควรติดตาม ตรวจหาระดับไขมันในเลือด และควรตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือน

                 หลังให้ยากลุ่มสแตตินหรือไฟเบรตหลัง 6-12 สัปดาห์ ควรตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ตับ (AST,SLT) หลังจากนั้นควรตรวจซ้ำ
ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าใช้ยาขนาดสูงหรือใช้ยาลดไขมันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ควรตรวจทุก 3-6 เดือน หากพบค่าเอนไซม์ตับสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าปกติ ก็ให้หยุดยา

                 นอกจากนี้ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังใช้ยาลดไขมันก็ควรตรวจเลือดหาระดับ เอนไซม์ CPK ซึ่งถ้ามีค่ามากกว่าปกติ 10 เท่า แสดงว่า มีอาการอักเสบของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงได้

ในกรณีให้ยากลุ่มสแตตินร่วมกับไฟเบรต ควรติดตามตรวจเอนไซม์ตับทุก 1-2 เดือน ในระยะ 6 เดือนแรกเนื่องจากผู้ป่วยมีความเสียงต่อการเกิดโรคตับอักเสบและภาวะกล้ามเนื้อถูกทำลายมากกว่าปกติ

[Total: 0 Average: 0]