ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิต คือ แรงดันของกระแสเลือด ที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีด ของหัวใจ (คล้ายแรงลมที่ดันผนังยางรถเวลาสูบลมเข้า) ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน (sphygmoma-nometer) วัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ 2 ค่าคือ

1.ความดันช่วงบน หรือความดันซิสโตลี (systolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ ความดันช่วงบนในคนคนเดียวกันอาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อง ตามท่าของร่างกายการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และปริมาณของการออกกำลัง
2.ความดันช่วงล่าง หรือ ความดันไดแอสโตสี (diastolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะ ที่หัวใจคลายตัว
                ในปัจจุบันได้มีการกำหนดค่าความดันโลหิตปกติและระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง (ความดันเลือดสูง ความดันสูง ก็เรียก) หมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอท ขึ้นไป หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม.ปรอท ขึ้นไป
                โดยมากผู้ป่วยจะมีความดันช่วงล่างสูง (diastolic hypertension)โดยความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้
                บางรายอาจมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว (มีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอท ขึ้นไป) แต่ความดันช่วงล่างไม่สูง (มีค่าต่ำกว่า 90 มม.ปรอท) เรียกว่า ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว (isolated systolic hypertension/ISHT) ซึ่งนับว่ามีอันตรายไม่น้อยกว่าความดันช่วงล่างสูง และ  ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
                ในการวินิจฉัยโรคนี้ ควรทำการวัดความดันในท่านั่ง  แต่ละคราวทำการวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง (ห่างกัน1-2 นาที) แล้วหาค่าเฉลี่ย ถ้าพบว่าค่าความดันเฉลี่ยอยู่ใน เกณฑ์สูงกว่าปกติ ควรนัดมาวัดซ้ำอีกอย่างน้อย 1-2 คราวในต่างวันกันหากยังพบว่ามีค่าความดันเฉลี่ยสูงกว่าปกติ
จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูง พบได้ประมาณร้อยละ10 ของคนทั่วไป ส่วนมากจะเริ่มเป็นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุ ความดันโลหิตสูง

1.ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 95) จะไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (primary hypertension) หรือความดันดลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (essential  hypertension)
              แต่อย่างไรก็ตาม มักพบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค กล่าวคือ ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่ไม่ประวัติดังกล่าวประมาณ 3 เท่า
               นอกจากนี้  อายุมากความอ้วน การกินอาหารเค็มจัดหรือมีเกลือโซเดียมสูง  และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ก็อาจเป็นปัจจัยเสริมของการเกิดโรคนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่ออายุประมาณ 25-55 ปี พบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น

2.ส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 5) อาจตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิด   ทุติยภูมิ (secondary hypertension) หรือความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุ
                ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อ ไปนี้

  • ความดันช่วงบนหรือช่วงล่าง   มม.ปรอท
  • มีความดันโลหิตสูงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที
  • ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นก่อนอายุ  30 ปี หรือหลังอายุ 50 ปี พบภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น หัวใจห้องล่างซ้ายโต มีค่าครีอะตินีนในเลือด 1.5 มก./ดล.
  • จอตาเสื่อม (hypertension  retnopathy) ระดับ 3 หรือ 4
  • คุมความดันไม่ได้หลังจากเคยคุมได้ดีมาก่อนหรือใช้ยาลดความดันหลายชนิดแล้วยังคุมความดันไม่ได้ 
  • มีอาการสงสัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ 

3.ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว มักพบในผู้สูงอายุ (ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น)โรคคอพอกเป็นพิษ ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ   (coarctation of aorta) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency)

4.ความดันโลหิตอาจสูงได้ชั่วคราว เมื่อมีภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น  เช่น ไข้ ซีด ออกกำลังกายใหม่ ๆ อารมณ์เครียด (เช่น โกรธ  ตื่นเต้น) เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องรักษา จะหายไปได้เองเมื่อปัจจัยเหล่านี้หมดไป

อาการ ความดันโลหิตสูง

ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด  และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษาด้วย ปัญหาอื่น
                ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดมืนท้ายทอยตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง
                บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ  แบบไมเกรนได้
                ในรายที่เป็นนาน ๆ หรือความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล   
                เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆโดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอกบวม หอบเหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น
                ในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ  ก็อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีระดับความ ดันโลหิตแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ  ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ใจสั่นและเหงื่อออกเป็นพักๆ (อาจเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา) ปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขุ่นแดง (อาจเป็นนิ่วไต) ต้นแขนและขาอ่อนแรงเป็นเป็นพัก ๆ (อาจเป็นภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ) มีอาการนอนกรนผิดปกติ (อาจเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) รูปร่างอ้วนฉุ หน้าอูม มีไขมัน (หนอกควาย) ที่หลังคอ และมีประวัติกินยาสตีรอยด์ ยาชุด หรือยาลูกกลอน (อาจเป็นโรคคุชซิง) เป็นต้น

ข้อแนะนำ
 
               1.วิธีการวินิจฉัยโรความดันโลหิตสูง รวมทั้งการติดตามผลการรักษาที่แน่นอนคือการตรวจวัดความดันโลหิต การอาศัยแต่สังเกตดูอาการเพียงอย่างเดียวมักจะไม่แน่นอน เพราะโรคนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด คนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดว่าความดันโลหิตสูงจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ (ถ้าไม่ปวดศีรษะก็นึกว่าไม่เป็นความดันโลหิตสูง) ความจริงแล้ว ความดันโลหิตสูงที่จะแสดงอาการปวดศีรษะนั้นนับว่ามีเพียงส่วน น้อย และอาการปวดศีรษะส่วนมากก็เกิดจากความเครียด ไมแกรน และอื่น ๆ  มากกว่าความดันโลหิตสูง
                2. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ด้วยการใช้ยาลดความดันเพียง1-2 ชนิด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องใช้ยาลดความดันมากกว่า 2 ชนิด
                3. ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานเป็นแรมปี หากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะลดน้อยลง  และสามารถมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด และถึงแม้รู้สึกสบายดี (ไม่มีอาการผิดปกติอะไร) ก็ควรหมั่นวัดความดันเป็นประจำ อาจเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง อาจวัดกันเองที่บ้าน หรือไหว้วานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านช่วยวัดให้ก็ได้  ควรลงสมุดบันทึกแล้วนำไปให้แพทย์ดู ในการตรวจครั้งต่อไป
             ผู้ป่วยบางรายวัดที่บ้านจะมีค่าความดันปกติแต่เมื่อไปวัดที่สถานพยาบาลจะพบว่าความดันโลหิตสูง(อาการลักษณะนี้เรียกว่า“White-coat  hypertension”) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรมีเครื่องวัดความดันคอยวัดเองที่บ้านซึ่งจะช่วยประเมินค่าความดันได้ดีกว่า
             4.  ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง  ถึงแม้จะรู้สึกสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตาม การลดยาหรือหยุดยา ควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาโดยจะถือหลักว่า  เมื่อให้ยาจนความดันลดเป็นปกติได้ติดต่อกันนาน1 ปี อาจลองลดขนาดยาลงที่ละน้อย แล้วตรวจวัดความดันเป็น ระยะ ๆ ถ้าความดันปกติก็ให้ยาขนาดนั้น ๆ หรือค่อย ๆ ลดลงจนหยุดยาไปเลย แต่ต้องหมั่นตรวจวัดความดันต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าขึ้นสูงใหม่ก็ให้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดยา ขึ้นไปใหม่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมความดันไปตลอดชีวิต
               5.ในการให้ยารักษาความดัน ควรเริ่มให้ทีละน้อยก่อน  แล้วค่อย ๆ เพิ่มเขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อระวังไม่ให้ยาเกินขนาด จะทำให้ความดันตกมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาลุกนั้น
               6. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง  ซึ่งมีส่วนช่วยใน การควบคุมความดันโนโลหิตให้ปกติและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ถ้าปฏิบัติตัวได้ดี ความดันอาจลดโดย ไม่ต้องใช้ยารักษา (ถ้าเป็นระดับที่ 1) หรือไม่ก็ช่วยลด ขนาดของยาที่ใช้ (ถ้าเป็นระดับที่ 2 และ 3)
               7. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะรู้สึกสบายดี ก็ควรตรวจวัดความดันอย่างน้อยทุก 2 ปี และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีรูปร่างอ้วน หรือมีพ่อแม่ พี่น้องเป็นโรคนี้ ควรตรวจวัดความดันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข  คลินิก  แพทย์  เป็นต้น

การรักษา ความดันโลหิตสูง

เมื่อแรกเริ่มตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นระดับที่ 1 ควรตรวจยืนยันภายใน 2 เดือน ถ้าเป็นระดับที่ 2 ควรประเมินหรือส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อภายใน1 เดือน ถ้าเป็นระดับที่ 3 ควรประเมินหรือส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อภายใน 1 สัปดาห์หรือทันทีถ้ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

ก่อนให้การรักษา  ควรประเมินผู้ป่วยทุกราย โดยการค้นหาสาเหตุ ประเมินพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดค้นหาโรคที่สัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง และร่องรอยการทำลายของอวัยวะจากโรค ความดันโลหิตสูง รวมทั้งค้นหาโรค หรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ   ที่มีผลต่อการเลือกใช้ยาลดความดัน โดยการซึกประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด (หาระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ กรดยูริก ครีอะตินีน โพแทสเซียม เฮโมโกลบินและฮีมาโทคริต) 
ซึ่งควรตรวจตั้งแต่ครั้งแรกที่วินิจฉัย และตรวจซ้ำปีละ 1-2 ครั้ง หรือตรวจบ่อยขึ้นถ้าพบว่ามีความผิดปกติ
การรักษา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตาม ระดับความรุนแรงของความดันโลหิตสูง ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีแนวทางดังนี้

1.เป้าหมายของการลดความดันโลหิต

ในผู้ป่วยทั่วไป ควรลดให้ความดันช่วงบน

140 และช่วงล่าง 

  90 มม.ปรอท
                ในผู้ทีมีเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วยควรลดให้ความดันช่วงบน 

 130 และช่วงล่าง 

 80 มม.ปรอท

2.สำหรับผู้ที่มีความดันช่วงบน 130–139 และ/หรือช่วงล่วง 80-90 มม.ปรอท ควรแนะนำการปรับ พฤติกรรมโดยไม่ต้องให้ยาลดความดัน   และติดตามวัดความดันใน 1 ปี
                ส่วนผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วยถ้าปรับพฤติกรรมเป็นเวลา 3 เดือนแล้วยังไม่สามารถคุมความดันตามเป้าหมาย (

 130/80 มม.ปรอท) ให้รักษาด้วยยาลดความดัน

3.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระยะที่1 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ แนะนำให้ปรับพฤติกรรม และติดตามวัดความดัน ทุก 1-2 เดือน เป็นเวลา 6-12 เดือน ถ้ายังคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเริ่มให้ยาลดความดัน

4.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่1ที่มีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง แนะนำให้ ปรับพฤติกรรมและควบคุมภาวะอื่น ๆ ทีเพิ่มความเสี่ยง (เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น) ติดตามวัดความดันทุก 1-2 เดือน นาน 3-6 เดือน ถ้ายังคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเริ่มให้ยาลดความดัน

5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 3 ทุกคน และผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไปหรือมีร่องรอยการทำลายของอวัยวะ/โรคที่สัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูงทุกคน (ไม่ว่าจะมีความดันโลหิตสูงระดับใดก็ตาม) ควรเริ่มให้ยาลดความดันเมื่อแรกพบ ร่วมกับการปรับพฤติกรรมแลควบคุมภาวะอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง

6. ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤติ ซึ่งแบ่ง เป็น 2 ระดับ ดังนี้

  • ความดันโลหิตสูงฉุกเฉิน (hypertensive Emergencies) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความดันช่วงบน >180 และ/หรือช่วงล่าง  >120 มม.ปรอท ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของอวัยวะสำคัญ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อ หัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีก ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้นควรส่งโรงพยาบาลด่วน จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาลและให้ยาฉีดลดความดัน (เช่น nitroprusside,enalapril,nicardipine, labetalol เป็นต้น) โดยค่อย ๆ ลดความดันให้เหลือ 160/100 มม.ปรอท ภายใน 2-6 ชั่วโมงต่อมา ระวังอย่าลดความดันเร็วเกินไป เช่น  ไม่ควรให้ ไนเฟดิพีน อมใต้ลิ้น อาจทำให้เซลล์สมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงฉับพลันได้
  •  ความดันโลหิตสูงเร่งด่วน (hypertensive urgencies) หมายถึงผู้ป่วยที่มีความดันช่วงบน >180 และ/หรือช่วงล่าง >120 มม.ปรอท ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เลือดกำเดาไหล หรือมีความวิตกกังวลรุนแรง  ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องให้ยาลดความดันออกฤทธิ์เร็ว (เช่น captopril,clonidine, labetalol) กินทันที หรือให้ยาลดความดันหลายชนิดกิน ทันที ให้ความดันลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง

7.  การให้ยารักษาความดัน ในรายที่จำเป็นต้องให้ยาลดความดัน  มีแนวทางดังนี้
ก. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 (ความดัน140-159/90-99 มม.ปรอท) ควรเริ่มด้วยยา ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียง 1 ชนิด นิยมเริ่มจากไฮโดรคลอไรไทอาไซด์ ขนาด 12.มก.วันละ 1ครั้ง ติดตามผลทุกเดือน ถ้าไม่ได้ผลตามเป้าหมายให้ปรับขนาดเป็น 25 และ 50 มก.ตามลำดับถ้ายังควบคุมไม่ได้  จึงให้ยาอีกชนิดหนึ่งร่วมด้วย เช่น ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านแคลเซียม หรือยาต้านเอช โดยปรับขนาดยาขึ้นทีละน้อย บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยา 2 ชนิดในขนาดต่ำ คือไม่จำเป็นต้องให้ยาชนิดแรกถึงเต็มขนาดแล้วค่อยเพิ่มชนิดที่ 2
ข.ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 และ 3 (ความดัน

 160/100  มม.ปรอท) ควรเริ่มด้วยยา2 ชนิดร่วมกันโดยมีไฮโดรคลอไรไทอาไซด์   เป็นตัวหลักร่วมกับยาชนิดอื่น โดยเริ่มจากขนาดต่ำก่อน   ควรติดตามวัดความดันเดือนละ 1 ครั้ง (ถ้าความดันสูงมากควรติดตามทุก 1-2  สัปดาห์) แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นที่ละน้อย จนกว่าจะคุมได้ตามเป้าหมาย ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องปรับเปลี่ยนยา และใช้ยาถึง 3-4  ชนิดร่วมกัน

8. การรักษาความดันโลหิตสูงในภาวะต่างๆ

  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหัวใจขาดเลือด ร่วมด้วย ถ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะควรใช้ยาปิดกั้นบีตา หรือยาต้านแคลเซียม  ชนิดออกฤทธิ์ยาว  ถ้าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ควรใช้ยาปิดกั้นบีตา และยาต้านเอช  
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย ร่วมด้วยควรใช้ยาต้านเอช ยาปิดกั้นบีตา และยาขับปัสสาวะ (ฟูโรซีไมด์และสไปโรโนแล็กโทน)
  • ผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง (ตรวจพบมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ >300มก./วัน  หรือครีอะตินีน > 1.3 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือ >1.2  มก./ดล.ในผู้หญิง) ควรใช้ยาลดความดันอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน โดยมียาต้านเอชหรือยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน (angiotensin  receptor  blocker/ARB) เป็นหลัก ซึ่งสามารถชะลอการเสื่อมของไต (ยาทั้ง 2 ชนิดนี้  ยังแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานร่วมด้วย  ซึ่งมีผลต่อการป้องกันภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน และลดภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) ควรใช้ยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน (ARB)
  • ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย ควรใช้ยาไฮโรคลอโรไทอาไซด์ร่วมกับยาต้านเอช  ซึ่งจะช่วยป้องกันการกำเริบซ้ำ
  • ผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย ควรใช้ยาปิดกั้นแอลฟา (alphablocker) เช่น prazosin,doxazosin ซึ่งจะช่วยรักษาอาการต่อมลูกหมากโตด้วย
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันช่วงบนสูงเดี่ยวควรใช้ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ และ/หรือยาต้านแคลเชียมชนิดออกฤทธิ์ยาวในขนาดต่ำ     หากไม่ได้ผลจึงค่อย ๆ ปรับขนาดยาขึ้นที่ละน้อยอย่างช้า ๆ ควรระวังการเกิดภาวะความดันตกในท่ายืน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรความดันโลหิตสูงควรใช้ยาปิดกั้นบีตา เมทิลโดพา (methylodpa) ไฮดราลาซีน (hydralazine) ห้ามใช้ยาต้านเอชและยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได

9. การติดตามผลการรักษา ช่วงแรก ๆ ควรนัดผู้ป่วยมาตรวจเดือนละ 1ครั้ง (ถ้าความดันสูงมากนัด ทุก 1-2 สัปดาห์) เมื่อคุมได้ตามเป้าหมายแล้วนัดเป็น ทุก 3-6 เดือน และควรตรวจทางห้องปฏิบัติการทุก 6-12 เดือน  
                ในการติดตามผู้ป่วย ควรเน้นให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมอย่างจริงจัง และปรับยาที่ใช้ให้เหมาะสมควรหมั่นชักถามอาการและตรวจดูภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น

10.การดื้อต่อการรักษา (resistant hypertension) หมายถึงการที่ผู้ป่วยกินยาลดความดันร่วมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (รวมทั้งยาขับปัสสาวะ) จนเต็มขนาดของยาแล้วยังควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรค้นหาสาเหตุ และแก้ไขตามสาเหตุที่พบ
1.  ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อคุมความดันไม่ได้ตามเป้าหมาย  สงสัยเป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ สมอง ไตหรือ ตา ซึ่งจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและให้การดูแลรักษาที่ซับซ้อน

การป้องกัน
สำหรับคนทั่วไป อาจป้องกันมิให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยการปฏิบัติตัวดังน
1.ควบคุมน้ำหนักตัว โดยให้มีค่าดัชนีมวลกาย ต่ำกว่า 23 กก./ม.2 ความยาวรอบเอว < 80ซม.ในผู้หญิง หรือ < 90ซม.ในผู้ชายโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ) ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือวันเว้นวั
3.  ลดปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภค ไม่เกินวันละ 2.4 กรัม (เทียบเท่าเกลือแกง 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา)
4. กินผักผลไม้มาก ๆ และลดอาหารพวกไขมันชนิดอิ่มตัว
5. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ชายควรจำกัดปริ-มาณแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่าวิสกี้ 90 มล.ไวน์ 300 มล. หรือเบียร์ 720 มล.) สำหรับผู้หญิงและผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 1 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่าวิสกี้ 45 มล.ไวน์150 มล. หรือเบียร์ 360 มก.

อ่านเพิ่ม ความดันโลหิตต่ำ


[Total: 3 Average: 5]