โรคขาดอาหารในเด็ก

โรคขาดอาหารในเด็ก คือ ภาวะการขาดสารอาหาร เช่น ภาวะขาดโปรตีน (สารเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตและแข็งแรง) และแคลอรี (สารสร้างพลังงานแก่ร่างกาย)  จึงเรียกชื่อว่า โรคขาดโปรตีนและพลังงาน(protein enegy malnutrition/PEM)

โรคนี้พบบ่อยในทารก และเด็กวัยก่อนเรียน (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการอาหารมากกว่าวัยอื่น ๆ

สาเหตุ โรคขาดอาหารในเด็ก

เด็กที่ขาดอาหารมักเป็นเด็กที่พ่อแม่ยากจนด้อยการศึกษา และมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ เด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง เช่น เด็กกิน นมข้นหวานหรือน้ำข้าว เด็กได้อาหารเสริมช้าไปหรือไม่พอ และเด็กมักจะเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย ไข้หวัด ปอดอักเสบ หัด ไอกรน เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้เด็ก ขาดอาหารมากขึ้นและยิ่งขาดอาหารก็ยิ่งเจ็บป่วยบ่อย เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ

อาการ โรคขาดอาหารในเด็ก


โรคนี้สามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ขึ้นกับ ความรุนแรงและสาเหตุของโรค เช่น

ถ้าเด็กขาดอาหารไม่มาก  ก็อาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบตามอายุ โดยเด็กยังดูแข็งแรงดีไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด

ถ้าเด็กขาดแคลอรีอยางมาก จะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีลักษณะผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก ผิวหนัง เหี่ยวย่น ตาลึก แก้มตอบ ดูคล้ายกับเด็กที่มีภาวะขาดน้ำ แต่ไม่มีอาการบวม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีโรคขาดอาหารแบบนี้มีชื่อเรียกว่า มาราสมัส (marasmus)  

ถ้าเด็กขาดโปรตีนอย่างมาก  ก็จะมีอาการบวม ที่มือและเท้า บางครั้งอาจบวมที่หน้าและบวมทั้งตัว น้ำหนักน้อยกว่าปกติ เด็กดูท่าทางเซื่องซึม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เบื่ออาหาร ผมบางเปราะแห้งและมีสีจาง ผิวหนังมีผื่นสีกระดำกระด่าง และหลุดลอกเป็นแผลที่บริเวณก้น ขาหนีบและต้นขา  และอาจมีอาการถ่ายอุจาระเหลวและเป็นฟองโรคขาดอาหารแบบนี้มีชื่อ เรียกว่า ควาซิวากอร์ (kwashiorkor) ซึ่งถือเป็นภาวะที่รุนแรง อาจตายด้วยโรคแทรกซ้อน  เช่น ท้องเดิน ปอดอักเสบ มักพบในเด็กอายุ 1-5 ปี

การป้องกัน โรคขาดอาหารในเด็ก

 การป้องกันโรคขาดอาหารในเด็ก อาจกระทำได้ ดังนี้

  1. แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมมารดานานอย่างน้อย 6 เดือน และอย่าให้ทารกหย่านมเร็วเกินไปโดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมาก
  2. แนะนำการให้อาหารเสริมแก่ทารกให้ได้พอเพียง
  3. และถูกต้องแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่เด็กเล็ก
  4. หมั่นชั่งน้ำหนักเด็ก ถ้าพบว่าน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ (ดูกราฟ) ควรแนะนำการเลี้ยงดู และการให้อาหารเสริม ถ้าไม่ได้ผล ควรแนะนำไปพบแพทย์  
  5. แนะนำพ่อแม่เด็กว่าเวลาเด็กเจ็บป่วย เช่น  มีบาดแผลอักเสบ คางทูม หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ไม่ต้องอดของแสลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ควรกินให้มาก ๆ เพื่อบำรุงร่างกายเด็ก

การรักษา โรคขาดอาหารในเด็ก

  1. ถ้ามีอาการบวมเบื่ออาหาร และท่าทางเชื่องซึมควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล อาจต้องป้อนอาหารเด็ก ทางสายยางรักษาโรคติดเอ และแก้ไขภาวะอื่น ๆ ที่พบร่วม
  2. ถ้าสงสัยมีโรคติดเชื้อที่รุนแรงควรส่งไปรักษา ที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน  
  3. ถ้าไม่มีอาการดังข้อ1 และ 2 ให้ดูแลรักษาดังนี้
    • แนะนำการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เช่น การให้นม การให้อาหารเสริมต่าง ๆ
    • ถ้ามีโรคติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย แผลพุพอง ทอนซิลอักเสบ ก็ให้ยารักษาตามแต่โรคที่พบร่วม
    • ให้วิตามินรวม ยาบำรุงโลหิต

[Total: 0 Average: 0]