โรคถุงน้ำดีอักเสบ – นิ่วน้ำดี

นิ่วน้ำดี (ถุงน้ำดีอักเสบ) เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นตามอายุ มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมักไม่พบในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

มักพบในคนอ้วน หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเอสโทรเจน ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง หรือมีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ตับแข็ง ทาลัสซีเมีย หรือภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ผู้ที่ลดน้ำหนักตัวในระยะเวลาสั้นๆ เป็นโรคของลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนนี้ออกไป หรือมีการอักเสบของทางเดินน้ำดีเรื่อรัง  

โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดีแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ นิ่วชนิดคอเลสเตอรอล (cholesterol stone) นิ่วชนิดเม็ดสี(pigment stone) และนิ่วชนิดผสม  นิ่วชนิดคอเลสเตอรอลกับนิ่วชนิดผสมพบได้บ่อยกว่าชนิดเม็ดสี ก้อนนิ่วอาจเกิดเป็นก้อนเดียวหรือก้อนเล็กๆ หลายก้อนก็ได้

สาเหตุ โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี

โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี สาเหตุของการเกิดนิ่วน้ำดีขึ้นกับชนิดของนิ่ว

สำหรับนิ่วชนิดคอเลสเตอรอล และชนิดผสม ซึ่งมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับหินปูน (แคลเชียม) กรดน้ำดี (bile acids) ฟอสโฟไลปิด (phos pholipids) และสารอื่นๆ เกิดจากมีสัดส่วนของคอเลสแตอรอลต่อกรดน้ำดีและ ฟอสโฟไลปิดสูงกว่าปกติ จึงตกตะกอนเป็นผลึกและกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

ทั้งนี้อาจเกิดจากมีการหลั่งคอเลสเตอรอลมาที่ถุงน้ำดีมากกว่าปกติ (เช่น ในคนอ้วน ผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันหรือมีแคลอรีสูง ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้น ๆ หรือกินยาโคลไฟเบรตในการลดไขมันในเลือด) หรือมีการหลั่งกรดน้ำดีน้อยกว่าปกติ (เช่น ผู้ที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดผู้ที่เป็นตับแข็งหรือโรคลำไส้เล็กส่วนปลาย) หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง (เช่น ในผู้สูงอายุ ผู้ที่กินฮอร์โมนเอสโทรเจน) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยเสริม เช่น ถุงน้ำดีมีการทำงานน้อย (hypomotility) จึงเกิดการสะสมของผลึกนิ่ว (เช่น ผู้ที่อดอาการหญิงตังครรภ์)

ส่วนนิ่วชนิดเม็ดสี  ซึ่งมีแคลเซียมบิลิรูบิเนต (calcium bilirubinate) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญนั้น เกิดจากมี unconjugated  bilirubin ในน้ำดีสูงเกินไป จึงตกผลึกเป็นก้อนนิ่วชนิดเม็ดสี หรืออาจจับตัวกับผลึกคอเลสเตอรอลกลายเป็นนิ่วชนิดผสม  นิ่วชนิดนี้พบมากในผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ทาสัสซีเมีย) ผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มแอลกฮอล์ ผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง หรือเป็นโรคพยาธิในทางเดินน้ำดีหรือพบในผู้สูงอายุ

ส่วนถุงน้ำดีอักเสบ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของนิ่วน้ำดี อาจเกิดเนื่องจากมีการอุดกั้นของท่อน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดี  มีแรงดันเพิ่มขึ้นและมีการยืดตัว ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้เกิดการอักเสบ หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองของสารเคมีบางชนิดอันเป็นผลมากจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีค็อกคัส เป็นต้น

มีเพียงส่วนน้อยที่อาจไม่พบร่วมกับนิ่วน้ำดี แต่อาจพบในโรคอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ตับอ่อนอักเสบความผิดปกติของทางเดินน้ำดี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น

อาการ โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี

โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี  ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีนิ่วน้ำดีจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นแต่อย่างใด และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกาย
ด้วยโรคอื่น

                ในรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อน้ำดี (bile duct) จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณให้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา  และมีอาการคลื่นไส้  อาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม

                อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันๆ หรือกินอาหารมื้อหนัก หรือตอนกลางคืน แต่ละครั้งจะปวดนาน 15-30 นาที บางรายอาจนาน 2 - 6 ชั่วโมง และจะทุเลาไปเอง เมื่อเว้นไปนานเป็นแรมสัปดาห์ แรมเดือน หรือแรมปีก็อาจกำเริบได้อีก(ถ้าปวดท้องทุกวันมักจะไม่ใช่เป็นนิ่วน้ำดี) บางรายอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง

บางรายอาจมีอาการท้องอึดท้องเฟ้อบริเวณเหนือ สะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักจะเป็นหลังกินอาหารมันๆ เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

ถุงน้ำดีอักเสบ ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน

ในรายที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังอาจมีอาการปวดตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย โดยมากจะมีอาการปวดบิดเป็นพักๆ แบบเดียวกับอาการปวดของนิ่วน้ำดี

การป้องกัน โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี

การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

  1. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินหรือเป็นโรคอ้วน
  2. ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ไม่ลดเร็วเกินไป
  3. ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  5. ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วน้ำดีที่ยังไม่มีอาการแสดงอะไรแต่บังเอิญตรวจพบขณะที่ตรวจรักษาโรจอื่น ไม่จำเป็นต้องรีบทำการผ่าตัด  เนื่องเพราะมักเป็นนิ่วก้อนเล็ก และอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดีซึ่งไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย แพทย์จะนัดติดตามดูเป็นระยะจนกว่าจะมีอาการชัดเจน (เช่นปวดท้อง) จึงค่อยทำการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการปวดท้องจากนิ่วน้ำดีที่ซ่อนอยู่ประมาณร้อยละ1–2  ต่อปี
  6. ในปัจจุบันมีการคันพบยาที่ใช้ละลายนิ่วน้ำดีมีชื่อว่า กรดชีโนดีออกซีโคลิก (chenodeoxycholic acid) ซึ่งได้ผลดีกับผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นนิ่วที่โปร่งรังสี (radiolucent stone) ซึ่งตรวจพบโดยการถ่ายเอกซเรย์ด้วยวิธีการกินสารทึบรังสี (oral cholecystography) และมีลักษณะก้อนนิ่วเล็กๆ หลายก้อน โดยอาจต้องกินยานานเป็นปีๆ ขณะนี้ราคายายังค่อนข้างแพง ดังนั้นจึงควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคนี้เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น บางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายนิ่วก่อนแล้วให้ยาละลายนิ่วตาม
  7. หลังผ่าตัดถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ซึ่งจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เอง ระหว่างที่มีอาการถ่ายเหลวบ่อย แนะนำให้ผู้ป่วยงดกินอาหารมันและของเผ็ดกินผักและผลไม้ให้มาก ๆ

การรักษา โรคถุงน้ำดีอักเสบ - นิ่วน้ำดี

  1. ถ้ามีอาการปวดท้องที่ชวนสงสัยว่าเป็นนิ่วน้ำดีควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลภายใน 1 - 2 สัปดาห์ระหว่างนั้นอาจให้การรักษาตามอาการไปพลางก่อน เช่น ถ้ามีอาการท้องอืดเฟ้อ ให้กินยาลดกรด หรือยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้ามีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ให้แอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน ไฮออสซีน ซึ่งอาจใช้ชนิดฉีดหรือกินก็ได้สุดแต่สภาพการณ์ของผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยงดอาการมัน ๆ
  2. ถ้ามีไข้ ดีซ่าน หรือกดเจ็บมากตรงบริเวณใต้ชายโครงขวา ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง อาจให้การรักษาเบื้องต้นโดยให้ยาลดไข้ และให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำ

มักวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวด์  บางรายอาจต้องถ่ายเอกชเรย์ด้วยวิธีพิเศษ และให้การรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดีออก 

ในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง (laparoscopic cholecystectomy) ผู้ป่วยจะมีแผลเจาะเป็นรูที่หน้าท้องเพียงเล็กน้อย  และสามารถกลับบ้านภายใน 1-2 วัน

ในกรณีที่มีการอักเสบของถุงน้ำดี  มักให้ยาปฏิชีวนะควบคุมอาการก่อนทำการผ่าตัด

[Total: 1 Average: 5]