โรคเกาต์

โรคเกาต์  เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9 – 10 เท่า ส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุ มากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุ โรคเกาต์

ส่วนมากมีสาเหตุจากร่างกายสร้างกรดยูริก มากเกินไป เนื่องจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ จึงมักพบมีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป (เช่นโรคทาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษามะเร็ง หรือฉายรังสี เป็นต้น) อาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง (เช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ)  

นอกจากนี้ ความอ้วน/ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะเบียร์) การกินอาหารที่ให้กรดยูริกสูง การได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การใช้ยา เช่น ไทอาไซด์  แอสไพริน ไซโคลสปอริน (cyclosporin) เลโวโดพา (levodopa) อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

อาการ โรคเกาต์

มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้น จะตึงร้อนและแดง และจะ พบลักษณะจำเพาะ คือขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมัก จะเป็นหลังดื่มแอลกอฮอล์ (ทำให้ตับกรดยูริกได้น้อย ลง) หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติ หรือ เดินสะดุดบางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่นบางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรก ๆ อาจกำเริบทุก 1-2 ปีโดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้น เรื่อย ๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จน กระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กลายเป็น 7-14 วัน จน กระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวด ก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus/tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสาร ยูริก  ปุ่มก้อนนี้ จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาว ๆ คล้ายชอล์หรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่าง ๆ จะค่อยๆ พิการ และใช้งานไม่ได้

การป้องกัน โรคเกาต์

  1. โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่หากได้รับการรักษา อย่างจริงจัง  ก็มักจะป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและ สามารถมีชีวิตปกติสุขได้ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรับการ รักษาอย่าได้ขาด ดังนั้น จึงควรกินยาตามแพทย์สั่งไป ตลอดชีวิตและหมั่นตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ
  2. ในรายที่มีเพียงกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการปวดข้อหรืออาการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องให้ยารักษา ยกเว้นถ้ามีระดับของกรดยูริกสูงเกิน 12 มก./ดล. ก็ควรกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ
  3. ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์  ควรตรวจระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ
  4. อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์  หากตรวจพบระดับยูริกในเลือดปกติ ควรเจาะดูดน้ำจากข้อ ไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์  ถ้าพบผลึกของยูเรตก็วินิจฉัยว่าเป็นเกาต์ แต่ถ้าพบว่าเป็นผลึกของแคลเซียม ไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate) ก็เป็นภาวะที่ เรียกว่า เกาต์เทียม (pseudogout)

การรักษา โรคเกาต์

1.ถ้ามีอาการชัดเจน ให้ยาลดข้ออักเสบ เช่น คอลชิซีน (colchicine) ขนาด 0.5 มก.ครั้งแรกให้ 1-2 เม็ด แล้วให้ซ้ำอีกครั้งละ 1เม็ดทุก 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 8 ชั่วโมง แล้วให้เป็น1 เม็ดทุก 2 ชั่วโมงจนกว่าจะหายปวด แต่ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดิน ซึ่งเกิดจากพิษของยาก็ให้หยุดยาเสีย

โดยทั่วไปจะให้ได้ประมาณ 8-20 เม็ด และ อาการปวดข้อจะหายใน 24-72 ชั่วโมง ถ้ามีอาการท้อง เดินให้กิน ยาแก้ท้องเดิน-โลเพอราไมด์  ถ้าไม่มีคลอชิซีนหรือในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น อินโดเมทาชิน หรือไอบูโพรเฟน ครั้งแรกให้ 2 เม็ด แล้วให้ 1 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าจะหาย ไม่ควรให้ติดต่อกันนาน ๆ ควรให้ผู้ป่วยนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบข้อที่ปวด และลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง

เมื่ออาการทุเลาแล้ว ควรแนะนำไปโรงพยาบาล เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

2.ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการไม่ชัดเจน หรือให้ยาลดข้ออักเสบแล้วดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาล มัก จะวินิจฉัย โดยการเจาะเลือดหาระดับของกรดยูริกใน เลือด (ค่าปกติเท่ากับ 3-7 มก./ดล.) ถ้าผลการตรวจไม่ ชัดเจน อาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่อง ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกาต์จะพบผลักของ ยูเรต นอกจากนี้อาจต้องตรวจ พิเศษอื่น ๆ ถ้าจำเป็น

การรักษา ในการที่มีอาการข้ออักเสบ แพทย์จะให้ ยาลดข้ออักเสบ ดังในข้อ 1 ถ้าไม่ได้ผลอาจให้สตีรอยด์ในการที่เกาต์เรื้อรัง แพทย์จะให้คอลชิซีน วัน 1-2  เม็ด กินเป็นประจำเพื่อป้องกันมิให้ข้ออักเสบกำเริบ ที่ทำสำคัญ ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาลดกรดยูริก* เป็นประจำ เพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ ปกติ ยาลดกรดยูริกมีให้เลือกใช้อยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • ยาลดการสร้างกรดยูริก เช่น ยาเม็ดอัลโลพลู รินอล (alloprino) 200-300 มก./วัน ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงได้       (ถ้าเกินแล้วมีอาการคันตามตัว ควรหยุดยาทันที) และอาจทำให้ตับอักเสบได้
  • ยาขับกรดยูริก เช่น ยาเม็ดโพรเบเนชิด (pro benecid) 1-2 เม็ด/วัน ผู้ป่วยที่กินยานี้ ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 3 ลิตร เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วไต เนื่องจากการตกตะกอนของกรดยูริก ยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีนิ่งไต หรือภาวะไตวาย ผู้ที่กินยานี้ไม่ควรกินแอสไพริน เพราะจะทำให้ฤทธิ์ในการขับกรดยูริกลดน้อยลง

การให้ยาลดกรดยูริก จะเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ซึ่งจะให้ผู้ป่วยกินเป็น ประจำทุกวันไปจนตลอดชีวิต จะช่วยให้สารยูริกที่สะสมตามข้อและอวัยวะต่าง ๆ ละลายหายไปได้ รวมทั้งตุ่มโทฟัสจะยุบหายไปในที่สุด  ผู้ป่วยที่ใช้ยาลดกรดยูริกก็ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์อย่างเคร่งครัดสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของยาที่ใช้

ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับการตรวจหาระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ ๆ แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อติดตามดูว่าระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

[Total: 0 Average: 0]