ต้อเนื้อ คือ โรคที่พบมากในประเทศเขตร้อน ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและมีฝุ่นลมจัด จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในบ้านเราในแทบทุกภาคของประเทศแต่จะพบเป็นกันมากในภาคอีสาน พบมากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-35 ปี ไม่พบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นเท่าๆ กัน
ต้อเนื้อ เป็นเยื่อบุตาที่เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้นซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าการถูก แสงแดดอัลตราไวโอเลต) เป็นประจำเป็นปัจจัยที่สำคัญ ของการเกิดโรคนี้ นอกจากนี้การถูกลม ฝุ่น ควัน ความร้อน สารเคมี และมลพิษทางอากาศเป็นประจำก็อาจทำ ให้เกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นต้อเนื้อจึงพบบ่อยในคนที่ทำงาน กลางแจ้ง ซึ่งถูกแดด ลม ฝุ่น เป็นประจำ (เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง นักกีฬา กลางแจ้ง เป็นต้น) ส่วนน้อยอาจพบในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองตาอื่นๆ เช่นคนงานในโรงาน (ถูกสารเคมี) คนทำครัว (ถูกควันไอร้อน) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายจะมีประวัติว่า มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย จึงเชื่อว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดต้อเนื้อ
จะเห็นแผ่นเนื้อสามเหลี่ยมสีเหลืองๆ ที่บริเวณตาขาวชิดตาดำ ส่วนมากจะเกิดที่ด้านหัวตา (ด้านในของตาส่วนที่อยู่ใกล้กับจมูก) ส่วนน้อยอาจพบที่หางตา ทั้งนี้เพราะส่วนของหัวตามีโอกาสกระทบกับสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดต้อเนื้อมากกว่าส่วนหางตา ประกอบกับมีหลอดเลือดมาเลี้ยงในบริเวณหัวตามาก
บางครั้งหลังจากถูกแสงมากๆ หรือนอนดึกอาจเห็นหลอดเลือดขยายมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด นอกจากบางครั้งมีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง หรือมีอาการปวดเล็กน้อย ในบางรายเมื่อเป็นนานเป็นแรมเดือนแรมปี ต้อเนื้ออาจยื่นเข้าไปถึงกลางตาดำทำให้บังสายตา ตามัว มองไม่ถนัดได้
บางรายอาจมีต้อเนื้อที่หัวตาและหางตาพร้อมกัน ผู้ป่วยอาจเป็นต้อเนื้อที่ตาเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ที่พบได้น้อยมากก็คือ การเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอาจพบในรายที่เป็นมากและปล่อยให้มีการอักเสบบ่อยๆ
ป้องกันมิให้เกิดต้อเนื้อ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการถูกแดด ถูกลม ถูกฝุ่น และสิ่งระคายเคืองตาอื่นๆ เวลาออกไปทำงานกลางแดด (กลางแจ้ง) ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันแสงอัลตราไวโอเลต