หลอดลมฝอยอักเสบ

หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนล่างที่พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี พบมากในช่วงอายุ  2-8 เดือน พบได้ตลอดทั้งปีบ่อยในทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ พบน้อยในทารกที่กินนมมารดา

สาเหตุ หลอดลมฝอยอักเสบ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่สำคัญ คือ กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก  เชื้อนี้สามารถติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด โดนเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสผ่านวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เชื้อมักจะแพร่กระจายลงไปที่หลอดลมฝอย (bronchioles) ทำให้เยื่อบุผิวอักเสบบวม และหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามาก เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการไอและหายใจหอบ

ระยะฟักตัว (สำหรับการติดเชื้ออาร์เอสวี) 2-5 วัน

อาการ หลอดลมฝอยอักเสบ

แรกเริ่มอาการแบบไข้หวัด คือ ไข้ น้ำมูกไหล และไอ 2-5 วันต่อมาเด็กจะมีอาการไอรุนแรง และหายใจหอบ มีเสียงดังวี้ด เด็กจะมีอาการซึม  กระสับกระส่ายไม่ยอมดูดนมหรือกินอาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนหลังไอ อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ ในรายที่หอบมากมักมีอาการปากเขียว

การป้องกัน หลอดลมฝอยอักเสบ

  1. เด็กเล็กที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคหอบหืด ปอดอักเสบ และการสำลักสิ่งแปลกปลอม ควรซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม หากพบเด็กมีอาการหายใจหอบ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
  2. เด็กที่เป็นโรคนี้มากกว่า 2 ครั้ง พบว่าอาจมีโอกาสเป็นโรคหืดในภายหลัง ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายว่าทั้ง 2 โรคนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรดังนั้น เมื่อหายจากโรคหลอดลมฝอยอักเสบแล้ว ควรติดตามดูอาการของเด็กต่อไปว่าอาจเป็นโรคหืดตามมาหรือไม่
  3. เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด ควรเฝ้าดูอาการหายใจหอบอย่างใกล้ชิด โดยสอนให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองนับ การหายใจของเด็กขณะอยู่ที่บ้านบ่อย ๆ  ถ้าพบว่ามีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ ควรสงสัยว่าเด็กอาจเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ครู้ป ปอดอักเสบ หรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ

การรักษา หลอดลมฝอยอักเสบ

หากสงสัย (เด็กเล็กมีอาการหายใจหอบ หลังเป็นไข้หวัด) ควรส่งโรงพยาบาลด่วน มักจะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องเอกชเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทดสอบทางน้ำเหลือง (เช่น ELISA) เพื่อพิสูจน์เชื้อต้นเหตุ

การรักษา ให้ยาลดไข้ ให้ออกซิเจน น้ำเกลือ (ต้องระวังอย่าให้มากเกิน) ใช้เครื่องดูดเสมหะในรายที่หายใจลำบากอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บางกรณี (เช่น มีประวัติโรคหืดในครอบครัว หรือเป็นโรคหืดมาก่อน) อาจให้ยาขยายหลอดลม ส่วนยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเป็นหูชั้นกลางอักเสบจากแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเป็นหูชั้นกลางอักเสบจากแบคทีเรียร่วมด้วย

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายได้ภายใน 7-10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิต พบว่ามีอัตราตายประมาณร้อยละ 2-3 ซึ่งส่วนใหญ่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน

[Total: 1 Average: 5]