โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder (OCD) คือ โรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำอาจรู้ตัวดีว่าพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำของตัวเองไม่มีเหตุผล แถมยังทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้เลย ส่งผลให้เกิดอาการเครียดจากโรคย้ำคิดย้ำต่อมาอีกทอดหนึ่ง

โรคย้ำคิดย้ำทำ พบได้ร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป โดยเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยที่อายุ 20 ปี โดยพบได้พอๆกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆได้ เช่น พบโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 60-90 โรคอื่นๆที่พบร่วมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่ โรคกลัวสังคม, โรควิตกกังวลทั่วไป, โรควิตกกังวลแพนิค รวมทั้งการดื่มเหล้าจนก่อให้เกิดปัญหาได้

สาเหตุ โรคย้ำคิดย้ำทำ

เกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน คือ

  • ความผิดปกติทางสมอง และระบบประสาทที่มีการทำงานบกพร่อง
  • สาเหตุทางพันธุกรรม ที่อาจถูกถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก
  • สภาพแวดล้อม ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการรุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกายและทางใจ หรือปัญหาชีวิตที่รุณแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

อาการ โรคย้ำคิดย้ำทำ

  1. อาการย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เช่น มีความคิดซ้ำๆว่ามือตนเองสกปรก, คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตู, จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือการกระทำสิ่งไม่ดีอย่างซ้ำๆ, คิดซ้ำๆ ว่าตนลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้
  2. อาการย้ำทำ (compulsion) เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ผู้ป่วยทำขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อความย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจที่เกิดจากความย้ำคิด หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆตามที่ตนหวั่นเกรง เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ , พูดขอโทษซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล

การรักษา โรคย้ำคิดย้ำทำ

  1. การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำด้วยพฤติกรรมบำบัดนั้นอาศัยหลักที่ว่า เมื่อเราพบกับสิ่งที่เรากลัว และเกิดความกลัวขึ้นแล้วเรารีบหนี ความกลัวก็จะหายไปพักหนึ่ง แต่เมื่อเราพบกับสิ่งนั้นอีกเราก็จะอยากหนีอีก แต่ถ้าเราเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรากลัวเป็นเวลานานๆ (exposure) เมื่อเวลาผ่านไปความกลัวที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ลดลงเอง เพราะเราจะเกิดความชินชาขึ้น (habituation หรือ desensitization)
  2. การใช้ยา โดยทั่วไปยาที่ใช้รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำได้ผล คือ ยาในกลุ่มยาแก้โรคซึมเศร้า ชนิดที่ออกฤทธิ์กับสารสื่อนำประสาทในสมองที่เรียกว่า ซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งแบ่งประเภทได้ 3 กลุ่มดังนี้
    • ยาแก้ซึมเศร้า
    • ยาคลายกังวล
    • ยาต้านโรคจิต

[Total: 1 Average: 5]