โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โรคกระเพาะ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดแผล ซึ่งหากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่รักษา อาจมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผลทะลุ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

"โรคกระเพาะอาหาร" (Gastritis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย อาจมีทั้งที่อาการไม่รุนแรง ไปจนถึงมีอาการรุนแรงจนทำให้ต้องหยุดงานหรือพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น หากไม่อยากนั่งทนทรมานเพราะอาการปวดท้อง เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้ให้ดีขึ้นอีกสักนิดกันดีกว่า จะได้ระมัดระวังและดูแลป้องกันตัวเองได้อย่างถูกวิธี

สาเหตุ โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหารเกิดจากได้หลายสาเหตุ โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ดังนี้

  1. การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด อารมณ์แปรปรวน การดื่มแอลกอฮอลล์ ชา กาแฟ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
  2. เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดได้จาก ยาแก้ปวด ลดไข้บางชนิดที่อาจส่งผลระคายกระเพาะอาหาร การกินอาหารเผ็ดจัด เปรี๊ยวจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หรือกินอาหารไม่เป็นเวลา
  3. ติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori (Helicobactor Pylori) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนต้น และปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ติดเชื้อจะมีโอกาสเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นเพิ่มขึ้น 6-40 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า

อาการ โรคกระเพาะอาหาร

  • 1. ปวดท้องแสบหรือจุกแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ (เหนือสะดือ) เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว จะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือ ยาลดกรด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดมากหลังรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัดหรือดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น
  • อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ มานานปี
  • ปวดแน่นท้องกลางดึก หลังจากหลับไปแล้ว
  • ปวดแน่น ท้องอืด มีลมมากในท้อง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะ
  • หลังมื้ออาหารถ่ายอุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด

การรักษา โรคกระเพาะอาหาร

การรักษามีด้วยกันหลายวิธี ส่วนหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัยพบ ได้แก่

  • ปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้ตรงเวลาไม่ทานอาหารรสจัด หรือดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากจะกระตุ้นให้ปวดท้อง
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรจะได้รับยาลดกรด กับยาปฏิชีวนะ
  • พยายามควบคุมความเครียดของตนเอง หากเริ่มมีความเครียดให้ทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลาย
  • ดูแลสุขลักษณะทุกครั้งก่อน และหลังการรับประทานอาหาร

การรักษาที่กล่าวไปเป็นวิธีป้องกันโรคกระเพาะด้วยเช่นกัน เนื่องจากการรักษาโรคนี้ไม่ต่างจากการป้องกันความเสี่ยง หากทำได้อาการจะดีขึ้น และยังห่างไกลจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

[Total: 1 Average: 5]