การส่องกล้องตรวจกล้องเสียง (Direct laryngoscopy)

การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง (Direct  laryngoscopy) เป็นการตรวจดูกล่องเสียง (larynx)โดยใช้กล้องใยแก้วนำแสง (fiber  optic) ส่องหรือใช้เครื่องมือตรวจกล่องเสียง (laryngoscope) ใส่เข้าไปในปากและหลอดคอไปยังกล่องเสียง เครื่องมือนี้ใช้กับเด็ก ผู้ป่วยหายใจมีเสียงหวีดที่ดังมากบริเวณลำคอขณะหายใจเข้าหรือหายใจมีเสียงสไตรดอร์ (stridor) ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของหลอดลมหรือกล่องเสียง และมีอาการไอเป็นเลือด (hemoptysis ) ระหว่างการส่องกล้องสามารถดูดเอาเสมหะหรือเนื้อเยื่อออกมาตรวจได้ การตรวจนี้ห้ามทำในผู้ป่วยที่มีฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ(epiglottiditis) ทำในห้องผ่าตัดที่มีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ (resuscitative equioment) พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย

วัตถุประสงค์
1.เพื่อส่องดูรอยโรคบริเวณกล่องเสียงที่ตีบแคบ หรือส่องดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่กล่องเสียงหรือไม่
2.เพื่อนำก้อนเนื้อหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากกล่องเสียง
3.เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียง

การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกผู้ป่วยว่าการตรวจนี้ใช้ดูกล่องเสียงที่ผิดปกติได้โดยตรง
2.บอกผู้ป่วยให้งดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ ดูแลความสะอาดของช่องปากเป็นพิเศษก่อนนอนและตอนเช้าก่อนตรวจ
3.บอกผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการตรวจอย่างง่าย ๆ และบอกว่าสถานที่ตรวจจะเป็นห้องมืด
4.บอกผู้ป่วยว่าจะได้รับยานอนหลับ  เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และให้ยาลดเสมหะ ร่วมทั้งมีการพ่นยาชาเฉพาะที่ในลำคอ
5.ให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าจะไม่ทำให้มีปัญหาเรื่องการอุดกั้นของทางเดินหายใจ
6.ให้ผู้ป่วยหรือญาติเซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษาให้เรียบร้อยก่อนตรวจ
7.ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยว่าเคยแพ้ยาชาหรือไม่
8.บันทึกสัญญาณชีพไว้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนตรวจ
9.ให้ยานอนหลับและยาตัวอื่น ๆ ตามแผนการรักษา (ปกติให้ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนการตรวจ)
10.บอกผู้ป่วยให้ถอดฟันปลอม  แว่นตา  คอนเทคแลนส์  และเครื่องประดับหรือของมีค่าออก แล้วบอกให้ผู้ป่วยปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนให้ยานอนหลับ

การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ
1.จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย  แหงนคอหรือเงยหน้าเล็กน้อยโดยใช้หมอนรองใต้คอ
2.บอกผู้ป่วยให้หายใจทางจมูกขณะใส่กล้องเข้าหลอดลมและวางแขนทั้ง 2 ข้างไว้ข้างตัว
3.ให้ยาสลบ  หรือพ่นยาชาเฉพาะที่ในปากและลำคอ  กรณีผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กจะต้องให้ดมยาสลบ
4.ใส่กล้องเข้าไปในปากและลงไปที่กล่องเสียงเพื่อตรวจดูความผิดปกติ  และนำสิ่งผิดปกติหรือเสมหะที่พบออกมาตรวจ หากพบก้อนหรือติ่งเนื้ออาจตัดเอาก้อนหรือ ติ่งเนื้อออกมาตรวจด้วย
5.กรณีผู้ป่วยรู้สึกตัวดีจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าศีรษะสูงเล็กน้อย (semi  Fowler’s position) กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่ง และศีรษะสูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการสำลัก
6.บันทึกสัญญาณชีพทุก ๆ 15 นาทีจนกระทั่งอาการคงที่  ต่อมาทุก 30 นาทีเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วทุก ๆ 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วทุก ๆ    4 ชั่วโมงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง  ทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากการได้รับยาชา หรือยานอนหลับ  เช่น  หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตสูง  หายใจลึกและเร็ว  รายงานให้แพทย์ทราบทันที
7.ประคบเย็นที่คอเพื่อลดบวม
8.เตรียมชามรูปไตหรือภาชนะใส่อาเจียน และแนะนำให้ผู้ป่วยบ้วนน้ำลายออกไม่ควรกลืน สังเกตเสมหะว่ามีเลือดปนหรือไม่ หากมีเลือดออกมารายงานให้แพทย์ทราบทันที
9.แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามกลั้นการไอไว้  เพื่อป้องกันเลือดออกบริเวณตำแหน่งที่ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ
10.บอกผู้ป่วยว่าหลังตรวจไม่ให้สูบบุหรี่  จนกว่าสัญญาณชีพจะคงที่และไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว
11.รายงานให้แพทย์ทราบทันที  หากคลำได้เสียงกรอบแกรมบริเวณหน้าและคอผู้ป่วยซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีการทะลุของหลอดคอ
12. ฟังเสียงที่คอผู้ป่วยด้วยหูฟังว่ามีเสียงสไตรดอร์หรือไม่  ซึ่งเกิดจากมีการตีบแคบที่กล่องเสียงหรือหลอดลม หรือมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือมีอาการ  หายใจไม่สะดวกหรือไม่ ควรเตรียมอุปกรณ์การช่วยฟื้นคืนชีพ และเตรียมชุดเจาะคอไว้ ในช่วง 24 ชั่วโมงหลังตรวจ
13. หลังจากตรวจบอกผู้ป่วยให้งดน้ำงดอาหาร  เพื่อป้องกันการสำลักจนกว่าจะมีรีเฟล็กซ์การกลืนหรือ gag reflex (ปกติประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากตรวจ) จึงให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารตามปกติได้ โดยเริ่มด้วยจิบน้ำก่อน
14.บอกผู้ป่วยว่าอาการเสียงแหบ เจ็บคอ จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะหายไปในเวลาไม่นาน อาจให้ผู้ป่วยอมลูกอมหรือบรรเทาอาการด้วยการกลั้นคอจนกว่าจะมีรีเฟล็กซ์การกลืน
15.เมื่อทดสอบว่าผู้ป่วยมีรีเฟล็กซ์การกลืนแล้ว ให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารอ่อนได้

ข้อควรระวัง
สิ่งส่งตรวจ (specimen) ไปยังห้องตรวจทันที

ผลการตรวจที่เป็นปกติ
กล่องเสียงปกติจะไม่เห็นอาการอักเสบ ไม่พบรอยโรค การตีบ หรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ

ผลการตรวจที่ผิดปกติ
ผลการตรวจจากการตัดชิ้นเนื้อและการฉายรังสี อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal  carcinoma) การตรวจนี้อาจเห็นรอยโรค การตีบ หรือสิ่งแปลกปลอมและจากการตัดชิ้นเนื้อ อาจทำให้กล่องเสียงบวมจากการฉายรังสี หรือเนื้องอก และอาจทำให้สายเสียงเสียหน้าที่

[Total: 1 Average: 5]