คอบิด

โรคคอบิด เป็นปัญหาสุขภาพคอที่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อคอหดตัวอย่างกะทันหัน ทำให้ศีรษะบิดหรือหันไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่สามารถควบคุมศีรษะให้เอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้ ภาวะกล้ามเนื้อคอบิดจะทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดที่คอ และตำแหน่งของศีรษะ คอ และไหล่ อยู่ในทิศทางที่ผิดไปจากเดิม ซึ่งอาจมีผลต่อการทำกิจกรรมหรือการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุ คอบิด

ส่วนมากมักเกิดขึ้นเอง ไม่ทราบสาเหตุ แต่ในบางรายมักพบร่วมกับโรคทางพันธุกรรมหรือโรคจากความเสื่อมทางระบบประสาท และมีบางรายเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มจิตเวชหรือยารักษาโรคพาร์กินสัน

อาการ คอบิด

โรคคอบิดเกร็ง โดยทั่วไปที่พบได้ มีดังนี้

  • มีอาการเจ็บหรือปวดคอหรือปวดไหล่ โดยอาการปวดจะเริ่มอย่างช้า ๆ ไม่ใช่อาการปวดชนิดเฉียบพลัน และมักจะมีอาการปวดในด้านเดียวกับที่ศีรษะเอียงไป เช่น ศีรษะเอียงไปทางด้านซ้าย ก็จะมีอาการปวดที่คอหรือไหล่ด้านซ้าย
  • ไหล่ยก
  • มือสั่น
  • ปวดหัว
  • ศีรษะสั่น (ผู้ป่วยคอบิดเกร็งกว่าครึ่งมีอาการนี้)
  • กล้ามเนื้อคอโต (75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยคอบิดเกร็งมีอาการนี้)

นอกจากอาการปวดแล้ว ผู้ป่วย โรคคอบิดเกร็ง ก็ยังพบความผิดปกติในการเคลื่อนไหวคอ โดยคออาจมีการบิดไปตามทิศทางต่าง ๆ ดังนี้

  • คางบิดเอียงไปทางหัวไหล่
  • หูเอียงไปทางหัวไหล่
  • คางแหงนขึ้น
  • คางก้มลงต่ำ

การรักษา คอบิด

เป้าหมายในการรักษา คือ ปรับองศาของคอที่บิดให้กลับมาอยู่ในท่าใกล้เคียงปกติมากที่สุดและลดอาการปวดจากภาวะการบิดของคอ โดยมีการรักษาได้หลายวิธี

  1. การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่นำมาใช้รักษาโรคคอบิด เช่น ยาต้านกลุ่มโคลิเนอจิก (anticholinergic) ยานอนหลับกลุ่ม clonazepam หรือยากันชักบางประเภท
  2. การฉีดโบท็อกซ์ถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการรักษาด้วยยา มีข้อดีคือสามารถลดอาการบิดเกร็งและยังสามารถลดอาการปวดได้ด้วย โดยประสิทธิภาพการออกฤทธิ์จะเริ่มเห็นผลหลังฉีดไปได้ 10-14 วันและคงฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 3-4เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้ใช้โบท็อกซ์ด้วย โดยเราสามารถหลีกเลี่ยงภาวะดื้อต่อโบท็อกซ์ได้ โดยการใช้โบท็อกซ์ของแท้ โดยใช้ปริมาณเท่าที่จำเป็น และไม่ควรฉีดซ้ำในช่วงเวลาห่างกันน้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจากการฉีดถี่ๆจะเป็นการกระตุ้นให้เกิด antibody ทั้งนี้อาจพบผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น กลืนลำบาก สำลัก
  3. กายภาพบำบัด โดยเน้นหมุนไปด้านตรงข้ามกับที่คอบิด ใช้ความร้อนหรือไฟฟ้ากระตุ้นเพื่อช่วยลดปวดและคลายกล้ามเนื้อ และในการวิจัยช่วงหลังพบว่า การทำกายภาพบำบัดหลังฉีดโบท็อกซ์ให้ผลการรักษาดีกว่าการฉีดโบท็อกซ์อย่างเดียว
  4. การผ่าตัด สามารถทำได้โดยการตัดเส้นประสาทส่วนที่เลี้ยงกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ แต่ผลการรักษาไม่แน่นอนและมีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดค่อนข้างมาก อีกวิธีคือการผ่าตัดฝังชิพลงสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) ซึ่งผลข้างเคียงหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีแรกแต่มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง
[Total: 0 Average: 0]