ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย คือ โรคที่พบได้ในคนทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี (เช่น ไม่มีส้วมใช้ไม่มีน้ำดื่มสะอาด มีแมลงวันชุกชุม) หรือในกลุ่มคนที่ดื่มน้ำไม่สะอาด หรือจาดสุขนิสัยที่ดี

การติดเชื้อมักเกิดได้บ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้นของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจิตเวชและในหมู่ชายรักร่วมเพศ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงแต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่น

สาเหตุ ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

เกิดจากการติดเชื้อไกอาร์เดียแลมเลีย (Giardia lamblia) ที่อยู่ตามดินและแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำห้วย หนอง บึง ทะเลสาบ บ่อน้ำ เป็นตัน และอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำและน้ำประปา (เนื่องจากเชื้อในรูปของซิสต์ มีความคงทน ไม่ถูกทำลายด้วยคลอรีน) ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้แบบดิบๆ หรือจากการกินผัก ผลไม้ และอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโดยผ่านทางการสัมผัสมือ หรือทางเพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสติดเชื้อจากบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ) ระยะฟักตัว  ประมาณ  1 – 3  สัปดาห์

อาการ ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

ในรายที่เป็นเฉียบพลัน แรกเริ่มมีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง (บางรายอาจถ่ายเหลวปริมาณมาก วันละ 1 ครั้งหลังอาหารเช้า) 3 – 4 วันต่อมา อุจจาระมีลักษณะเป็นมัน เป็นฟอง ลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด อาจส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วห้อง  อุจจาระมักไม่มีมูกหรือเลือดปน (น้อยรายที่อาจมีมูกโดยไม่มีเลือด) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางราย อาจมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการอยู่นาน 1 – 3 สัปดาห์ (บางรายอาจนาน 6 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจมีอาการเรื้อรัง

ในรายที่เป็นเรื้อรัง (อาจเกิดตามหลังอาการเฉียบฃพลันหรือไม่ก็ได้) มีมีอาการที่เกิดจากการดูดซึมผิดปกติ (malabsorption) ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระเหลวปริมาณมากและบ่อย อุจจาระมีสีเหลือง เป็นฟอง มีลักษณะเป็นมันลอยน้ำและมีกลิ่นเหม็นจัด อาการมักเป็นๆ หายๆ หรือมีท้องผูกสลับท้องเดินนานเป็นแรมเดือนแรมปี มักมีอาการปวดท้อง (ซึ่งจะเป็นมากหลังกินอาหาร) มีลมในท้อง ท้องอืด และน้ำหนักลด

การป้องกัน ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

  1. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร  เปิบอาหาร  หลังถ่ายอุจจาระ  หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
  2. อย่าดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบดิบๆ ถึงแม้จะดูใสสะอาดก็ไม่ปลอดภัย ควรต้มน้ำให้สุกก่อนดื่ม (ต้มให้เดือดนานอย่างน้อย    10 นาที) หรือดื่มน้ำขวดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อแล้ว
  3. เวลาเล่นน้ำในสระว่ายน้ำหรือแปล่งน้ำธรรมชาติ ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าปาก
  4. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
  5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การใช้ปากสัมผัสทวารหนักหรืออวัยวะเพศ

การรักษา ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย

หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล อาจให้การรักษาบื้องต้นด้วยการให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจพบเชื้อไกอาร์เดีย ในอุจจาระ (อาจต้องนำอุจจาระไปตรวจด้วยกล้องจุล-ทรรศน์ซ้ำๆ หลายครั้ง หากตรวจครั้งแรกๆ ไม่พบเชื้อ) ในกรณีที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (antigen) ในอุจจาระด้วยวิธี IFA หรือ ELISA

การรักษา ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล ขนาด 250 มก.วันละ 3 ครั้ง (เด็กให้ขนาด 15 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง) นาน 5 วัน ถ้ามีภาวะขาดสารอาหารหรือน้ำหนักน้อย ควรบำรุงอาหาร วิตามิน และเกลือแร่  ตามลักษณะอาการที่พบ

ผลการรักษา มักจะได้ผลดี ยกเว้นในรายที่ดื้อยาอาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น เช่น ทินิดาโซล (tinidazole) ขนาด 2 กรัม ครั้งเดียว อัลเบนดาโซล 400 มก.วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน หรือฟูราโซลิโดน (furazolidone) 100 มก.วันละ 4 ครั้ง นาน 7 – 10 วัน


[Total: 0 Average: 0]