อาการแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางชนิดแบบผิดปกติ ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อได้รับอาหารชนิดนั้นๆ โดยสามารถเกิดได้กับอาหารเกือบทุกชนิดค่ะ
เราไม่อาจคาดเดาระดับความรุนแรงของอาการแพ้ได้เลย การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการแพ้ วิธีหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และการรักษาอาการแพ้อาหาร จะช่วยให้คุณรับมือกับโรคภูมิแพ้ชนิดนี้ได้อย่างถูกต้อง
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนที่มีอาการแพ้อาหารประจำตัว เรียนรู้เกี่ยวกับอาการแพ้ของตนเอง และใส่ใจกับอาหารที่รับประทานเข้าไปอย่างใกล้ชิดค่ะ
รู้จักกับอาการแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง บางคนมีอาการแพ้อาหารเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก แต่อาจพัฒนาเป็นอาการแพ้อาหารรุนแรงในครั้งถัดๆ ไปได้
อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นอาจแสดงอาการทางระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจ โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพร้อมกันก็ได้
ตัวอย่างอาการแพ้อาหาร
– ชา หรือคันที่ปาก ใบหู หรือในลำคอ
– มีผื่นคันเหมือนเป็นลมพิษ ในบางรายอาจมีผิวหนังแดง และรู้สึกคัน แต่ไม่มีผดผื่น
– บวมบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และในลำคอ
– กลืนอาหารลำบาก
– หายใจลำบาก หายใจติดขัด
– วิงเวียนศีรษะคล้ายจะ เป็นลม
– รู้สึกไม่สบาย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
– ปวดบริเวณท้องน้อย หรือท้องเสีย
– มีอาการคล้ายเป็นไข้ละอองฟาง เช่น จาม หรือคันบริเวณดวงตา และเยื่อบุตา
ส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ และบ่อยครั้งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที
มีบางกรณีที่พบได้น้อยมากคือ อาจใช้เวลาถึง 4-6 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นกว่าจะมีอาการ ซึ่งการตอบสนองต่อการแพ้ที่ช้านี้มักพบได้ในเด็กที่มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) จากอาการแพ้อาหาร

นอกจากนี้ บางคนอาจมีปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่ตอบสนองช้าแบบอื่น เช่น การแพ้โปรตีนในอาหารจนทำให้เกิดลำไส้อักเสบ (Food protein-induced enterocolitis syndrome)
โดยจะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง เกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานนม ถั่วเหลือง ธัญพืช และเนื้อสัตว์บางชนิด
พบได้บ่อยในเด็กทารกที่รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นครั้งแรก หรือเด็กที่กำลังหย่านม
เด็กที่มีอาการแพ้อาหารแบบนี้อาจมีอาการอาเจียนซ้ำหรือมีอาการท้องเสียปนเลือดด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
บางครั้งอาการแพ้อาหารก็อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และรุนแรง หรือที่เรียกว่า “ภาวะแอนาฟิแล็กซิส” โดยเป็นอาการแพ้ที่ส่งผลต่อหลายๆ ระบบในร่างกายในร่างกายพร้อมๆ กัน
เริ่มแรกผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจนำไปสู่อาการอื่นๆ ที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ดังนี้
– หายใจลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หายใจเสียงดังฟืดฟาด รวมทั้งมีอาการไอร่วมด้วย
– คอบวม หรือรู้สึกเหมือนมีก้อนบวมอยู่ในลำคอ ทำให้หายใจลำบาก
– หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
– ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการมึนงง สับสน และวิงเวียนศีรษะ
– อยู่ๆ ก็รู้สึกวิตกกังวล และหวาดกลัวอย่างมาก
ปฏิกิริยานี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังสัมผัสกับอาหารที่แพ้ และทำให้เสียชีวิตได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉิน การไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
หากคุณพบผู้ป่วยที่มีอาการของภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง เช่น หายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด มีอาการเหมือนจะเป็นลม หรือหมดสติ
“คุณจำเป็นต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โทรเรียกรถพยาบาล หรือโทรไปที่เบอร์สำหรับเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 โดยเร็วที่สุด”
อาหารเกือบทุกประเภทสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่ก็มีอาหารบางชนิดมักก่อให้เกิดอาการแพ้มากกว่าอาหารอื่นๆ
สำหรับเด็กเล็กมักพบว่า อาการแพ้มีสาเหตุมาจากอาหารเหล่านี้
– ไข่
– นม เด็กที่มีอาการแพ้นมวัวจะมีโอกาสเสี่ยงแพ้นมทุกชนิด
– ข้าวสาลีหรือแป้งข้าวสาลี
– ถั่วเหลือง
– ถั่วลิสง
– ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้ เป็นต้น
สำหรับผู้ใหญ่มักพบว่า อาการแพ้มีสาเหตุมาจากอาหารเหล่านี้
– ถั่วลิสง
– ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้ เป็นต้น
– ปลา
– อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู ล็อบสเตอร์ กุ้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า ปฏิกิริยาภูมิแพ้อาหารเกิดจากอาหารจำพวกต่อไปนี้ได้เช่นกัน
- ผักชีฝรั่ง หรือผักขึ้นฉ่าย
- กลูเตน (Gluten) โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในข้าว และธัญพืชต่างๆ
- มัสตาร์ด
- งา
- ผักและผลไม้ โดยจะส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้บริเวณปาก ริมฝีปาก และในลำคอ
- เมล็ดสน
- เนื้อสัตว์บางชนิด บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์ชนิดเดียว บางคนมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์หลายชนิด
อาการแพ้วัตถุเจือปนในอาหารนั้นพบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามสารปรุงแต่งอาหารบางตัวอาจทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นอย่างกะทันหันได้ เช่น
ซัลไฟต์ หรือสารกันเสียซัลไฟต์
สารกันเสียซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารกันเสียซัลไฟต์อื่นๆ ถูกนำมาใช้เพื่อถนอมอาหารประเภทต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม ไส้กรอก เบอร์เกอร์ ผัก และผลไม้แห้ง
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการผลิตไวน์ และเบียร์ พบว่า ถูกนำมาใช้เติมลงในไวน์ด้วยเช่นกัน ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจมีปฏิกิริยาจากการสูดดมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้
ทว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรงจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของซัลไฟต์
โซเดียมเบนโซเอต
กรดโซเดียมเบนโซเอต และกรดเบนโซเอตอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหารซัลไฟต์ เป็นสารเจือปนที่นำมาใช้ถนอมอาหาร และป้องกันการเกิดเชื้อรา
มักนำมาใช้กับน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มต่างๆ โดยกรดเบนโซเอตนี้เกิดขึ้นจากผลไม้ หรือน้ำผึ้งโดยธรรมชาติได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามกรดนี้เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ต่างๆ ได้ เช่น หอบหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง