ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือโรค อี ดี (ED/ Erectile dysfunction) หมายถึง อาการที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวไม่นานพอ บางรายมีอาการหลั่งเร็ว หลั่งไว สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเหล่านี้เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะเพศไม่เพียงพอ ปัจจุบันพบผู้ที่มีโอกาสป่วยด้วยอาการนี้สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมาถึง 3 เท่า เนื่องจากการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เพศชายเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสูงขึ้น ลักษณะอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
แบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
- แบบปฐมภูมิ คือการที่องคชาตไม่เคยแข็งตัวเต็มที่ หรือไม่แข็งพอที่จะทำให้ร่วมเพศสำเร็จเลย
- แบบทุติยภูมิ คือการที่องคชาตเคยแข็งตัวและร่วมเพศได้มาก่อน แต่ต่อมาเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข็งตัวเหมือนเดิม
- แบบชั่วคราว คือการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรณีนี้ หากพบปัญหาและรีบรักษาแต่เนิ่นๆ สามารถหายเป็นปกติได้
ผู้ชายส่วนใหญ่เมื่อถึงวัยกลางคนจะเริ่มมีปัญหากามตายด้าน เกิดขึ้นร้อยละ 37 ของผู้ชายอายุ 40-70 ปีเป็นโรคนี้ โดยมีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด ยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งพบผู้ป่วยมากขึ้นไปตามวัย เพราะฮอร์โมนเพศลดลงพร้อมๆ กับความเสื่อมของร่างกาย โดยสามารถจัดระดับความรุนแรงได้ ดังนี้
- ระดับความรุนแรงน้อย ในระดับนี้สามารถสังเกตได้จากเวลาที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์จะสามารถสำเร็จได้เกือบทุกครั้ง
- ระดับความรุนแรงปานกลาง หากมีเพศสัมพันธ์จะสำเร็จได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งในการร่วมเพศ
- ระดับความรุนแรงมาก ล้มเหลวทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ตามธรรมชาติ อวัยวะเพศแข็งตัวเมื่อมีการกระตุ้นทางเพศจากสมอง หรือประสาทสัมผัสต่างๆ ปลายประสาทที่อยู่ในอวัยวะเพศจะหลั่งสารบางอย่าง มีผลทำให้หลอดเลือดแดงภายในอวัยวะเพศขยายตัว เลือดแดงจะไหลเข้ามาในอวัยวะ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อพรุนคล้ายฟองน้ำมากขึ้น ส่งผลให้อวัยวะเพศชายมีการขยายโต และยาวขึ้น และในขณะเดียวกันเลือดดำที่อยู่ขอบนอกจะถูกเบียดให้แฟบลง ยิ่งทำให้เลือดมาคั่งในอวัยวะเพศ อวัยวะเพศจึงแข็งตัวพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้
สาเหตุ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งได้เป็น 4 สาเหตุ คือ
1. ความผิดปกติที่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ
พบได้ประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ป่วย และเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- เส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตัน ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ
- ความผิดปกติกลไกของการกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไม่สามารถกักเก็บในอวัยวะเพศได้
- มีความผิดปกติร่วมกันระหว่างเส้นเลือดแดงอุดตัน และกลไกการกดทับเล้นเลือดดำผิดปกติ
2. ความผิดปกติที่ระบบประสาท
ผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติได้ตั้งแต่ระดับสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน เส้นประสาทที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
3. ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย อาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความตั้งใจในการทำงานลดลง หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ
4. ความผิดปกติของภาวะทางจิตใจ
ในอดีตมีความเชื่อว่า 90 % ของผู้ป่วยที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากภาวะทางจิตใจ แต่ปัจจุบันพบว่า เกิดจากโรคทางกายมากกว่าโรคทางจิตใจ
แต่ภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรืออาจจะเกิดจากยาทางด้านจิตเวชได้เช่นเดียวกัน
อาการ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
อาการของนกเขาไม่ขัน เกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดร่วมกับภาวะบกพร่องทางเพศอื่น ๆ เช่น มีความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่ และมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น
หากมีสัญญาณหรืออาการของนกเขาไม่ขันหรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
- มีความกังวลหรือรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นเวลากว่า 2-3 สัปดาห์
- พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเพศ เช่น มีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วหรือช้าเกินไป
- เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
การรักษา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
เริ่มจากการตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ เช่น เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับ และไต และในรายที่ความต้องการทางเพศลดลง หรือได้รับการตรวจร่างกายแล้วพบว่าลูกอัณฑะมีขนาดเล็ก ต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย การรักษาจะเริ่มจากวิธีรักษาง่ายๆ เช่น ยารับประทาน รวมไปถึงใช้อุปกรณ์เข้าช่วย อย่างการใช้ปั๊มสูญญากาศ ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะใช้ยาฉีด หรือการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม หรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน โดยแพทย์จะให้การอธิบายวิธีรักษาแต่ละชนิด พร้อมข้อดี ข้อเสียแก่ผู้ป่วยทราบ