ข้อเท้าบวม

เท้าบวม (Swollen Feet) คือ อาการบวมที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณเท้าไปจนถึงข้อเท้า อาการนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ถือเป็นสัญญาณที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เท้าบวมสามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ โดยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุ

สาเหตุ ข้อเท้าบวม

สาเหตุที่ทำให้เท้าบวมมีอะไรได้บ้าง

  • โรคหัวใจ ในภาวะหัวใจวายน้ำท่วมปอดจะทำให้มีอาการขาบวมทั้งสองข้างอาจจะมีอาการเหนื่อยนอนราบไม่ได้ต้องใช้หมอนหลายใบร่วมด้วย
  • โรคไต ในภาวะของไตวายเรื้อรังจะมีอาการน้ำเกิน ขาบวมทั้งสองข้างเหนื่อยนอนราบไม่ได้ปัสสาวะออกน้อย ส่วนในภาวะไตอักเสบหรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะ จะพบว่าขาบวมทั้งสองข้างอาจพบความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นฟองร่วมด้วยได้ ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการบวมของหนังตาบนทั้งสองข้างได้
  • โรคเส้นเลือดดำอุดตันที่ขา มักพบขาบวมข้างใดข้างหนึ่งอาจจะรู้สึกปวดได้ มักพบในคนไข้ที่ไม่ได้ขยับขา คนไข้หลังผ่าตัด คนไข้นอนติดเตียงหรือคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดโรคนี้อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดดำที่ปอดอันตรายถึงชีวิตได้
  • การติดเชื้ออักเสบ การติดเชื้ออักเสบที่เท้าทำให้เท้าบวมมีอาการแดงร้อนและปวดหรือมีไข้ได้ มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
  • โรคหลอดเลือดดำบกพร่อง ทำให้เลือดไหลย้อนกลับได้ไม่ดีจึงทำให้มีอาการบวมที่ขาข้างที่เป็นได้ โดยเฉพาะการยืนนานๆ
  • ท่อน้ำเหลืองอุดตันก็สามารถทำให้เกิดภาวะเท้าบวมได้
  • ยาบางชนิดทำให้เกิดอาการบวมได้ เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนโปรเจสเตอโรน ยาความดันบางชนิด สเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) เช่นบรูเฟ่น
  • ภาวะตั้งครรภ์และอาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่นภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • โรคตับ ภาวะตับแข็งทำให้เกิดอาการบวมในขาทั้งสองข้างได้มักจะพบท้องบวมโตมีน้ำในช่องท้องได้

อาการ ข้อเท้าบวม

เราจะสังเกตอาการเท้าบวมได้อย่างไร

  • มีอาการตึงที่เท้า ร่องรอยย่นของผิวหนังหายไป
  • ใส่รองเท้าแล้วคับ ใส่กางเกงแล้วติดขา
  • เห็นรอยบุ๋มชัดเจนเมื่อถอดรองเท้าหรือถุงเท้าออก
  • เอานิ้วกดอยู่บริเวณหน้าแข้งด้านในแล้วบุ๋มลงไปไม่เด้งกลับมา

การวินิจฉัยใช้การตรวจแลปทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเม็ดเลือด การตรวจค่าไต การตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด การตรวจค่าตับ การประเมินหัวใจ เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยโรคแล้วก็รักษาตามอาการของโรคนั้นนั้น

ดังนั้นถ้าท่านมีภาวะอาการเท้าบวมสงสัยว่าจะเป็นโรคใดโรคหนึ่งจึงควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง และควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดมาพบแพทย์ด้วยเพื่อประเมินว่าอาการบวมนั้นเกิดจากยาหรือไม่

การรักษา ข้อเท้าบวม

โดยทั่วไปแล้วหากอาการเท้าบวมเกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำหรือการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจไม่ต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ แต่ให้ผู้ป่วยดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการบวมของเท้าได้ มีดังต่อไปนี้

  • ยกขาให้สูงขึ้นขณะนอนหงาย เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
  • ยืดเหยียดขาอยู่เสมอ จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • ลดปริมาณการรับประทานเกลือ ช่วยลดการเกิดน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้อาการบวมลดลง
  • ใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดบริเวณต้นขา หรือข้อเท้า เพราะอาจทำให้เท้าบวมได้
  • สวมผ้ารัดข้อเท้าหรือเท้า เพื่อช่วยลดอาการบวม

แต่หากอาการบวมเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ แพทย์จะเริ่มต้นรักษาที่ต้นเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอาการบวมของเท้าซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้คือ การใช้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งใชัภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ขณะที่ผู้ป่วยเท้าบวมอันเนื่องมากจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเพื่อเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียในการใช้ยาดังกล่าวกับการรักษาอาการเจ็บป่วย หากยาดังกล่าวก่อให้เกิดอาการบวมอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งหยุดยา ปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือเปลี่ยนยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยมากที่สุด

[Total: 0 Average: 0]