อหิวาต์

อหิวาต์ คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว

ในสมัยก่อนพบว่าการระบาดแต่ละครั้งมีผู้ป่วย  เสียชีวิตเป็นร้อยเป็นพัน  จึงมีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณ ว่า โรคห่า (อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง)

ในปัจจุบันโรคนี้ลดความรุนแรงลง และพบระบาดน้อยลง มีรายงานโรคนี้ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ พบประปรายทางภาคอีสานและภาคเหนือ โรคนี้พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่  มักพบในคนอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป สามารถพบได้ประปรายทุกเดือนตลอดทั้งปี มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี และในหมู่คนที่กินอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกหรือขาดสุขนิสัยที่ดี

ในต่างประเทศโรคนี้พบบ่อยในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกา พบระบาดในกลุ่มคนที่อยู่กันอย่างแออัด  และตามค่ายอพยพ

สาเหตุ อหิวาต์

เกิดจากเชื้ออหิวาต์  ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอคอเลอรา (Vibrio cholerac) เชื้ออหิวาต์มีอยู่หลายชนิด ตัวก่อโรคที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ ชนิดเอลทอร์ (EI Tor) กับวิบริโอคอเลอรา 

เชื้ออหิวาต์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด คนเราสามารถติดเชื้อชนิดนี้โดยการกินอาหารทะเลแบบดิบ ๆ ดื่มน้ำหรือกินอาหารรวมทั้งน้ำแข็ง ไอศกรีมที่ปนเปื้อนเชื้อโดยมีแมลงวัน  หรือมือเป็นสื่อกลางในการนำพาเชื้อ แล้วผู้ติดเชื้อ (ผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ) ก็ปล่อยเชื้อออกทางอุจาระไปอยู่ตามดินและน้ำ ซึ่งแพร่กระจายสู่ผู้อื่นในวงกว้างจนเกิดการระบาดได้ นอกจากนี้ อาจติดจากผู้ติดเชื้อโดยการสัมผัสใกล้ชิด เชื้อสามารถติดผ่านมือเข้าไปในปากได้

เชื้ออหิวาต์จะรุกล้ำเข้าไปที่เยื่อบุลำไส้เล็กแล้วปล่อย สารพิษ (ชื่อ cholera toxin) ทำให้ลำไส้เล็กหลั่งน้ำและเกลือแร่ออกมาในอุจจาระจำนวนมาก เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ 

ระยะฟักตัว 6 ชั่วโมง ถึง 5 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 24-48 ชั่วโมง)

อาการ อหิวาต์

ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยมี อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง คล้ายโรคท้องเดินทั่วไป หรืออาหารเป็นพิษ มักหายได้เองภายใน 1-5 วัน

ในรายที่เป็นมากมักมีอาการถ่ายเป็นน้ำรุนแรงอุจจาระมักจะไหลพุ่ง โดยไม่มีอาการปวดท้อง (ส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดบิดในท้อง) และมีอาการอาเจียนตามมาโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน (ส่วนน้อยอาจมีอาการคลื่นไส้) ระยะแรกอุจจาระมีเนื้อปน ลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง แต่ต่อมาจะกลายเป็นน้ำล้วนๆ  บางรายอุจจาระมีลักษณะเหมือนน้ำชาวข้าว ไม่มีกลิ่นอุจจาระ อาจมีกลิ่นคางเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจถ่ายวันละหลายครั้งถึงหลายสิบครั้ง หรือไหลพุ่งตลอดเวลา ส่วนอาการอาเจียนนั้น แรกเริ่มออกเป็นเศษอาการ ต่อมาเป็นน้ำ และน้ำซาวข้าว

หากเป็นรุนแรงมักถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 250 มล./ กก./วัน และเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและซ็อกอย่างรวดเร็ว (ภายใน 4-18 ชั่วโมง) ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบแห้งเป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักจะเสียชีวิตภายในเวลาสั้น ๆ

การป้องกัน อหิวาต์

  1. ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลอง หรือดื่มน้ำบ่อแบบดิบๆ ไม่กินน้ำแข็งหรือไอศกรีมที่เตรียมไม่สะอาด กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และไม่มีแมลงวันตอม ไม่กินอาหารทะเลแบบดิบๆ ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนเตรียมอาการ ก่อนเปิบข้าว และหลังการถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ควรถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะอย่าถ่ายลงคลองหรือตามพื้นดิน
  2. สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรนำอุจจาระและสิ่งที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิดอย่าเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง  ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อ ห้ามนำไปชักในแม่น้ำลำคลอง ควรแช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือนำไปแนะนำไปฝังหรือเผาเสีย
  3. ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ให้ยาปฏิชีวนะแก่ชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากไม่ได้ผลและทำให้เชื้อดื้อยา แต่อาจพิจารณาให้ในกลุ่มคนขนาดเล็ก เช่น ในเรือนจำ หรือในชุมชนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกินร้อยละ 20
  4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาต์  ชนิดใหม่ในรูปของการกินทางปาก (oral vaccine)ให้ 2 ครั้งห่างกัน 10–14 วัน ซึ่งสามารถใช้ป้องกันได้ผลดี แพทย์จะเลือกใช้ในบางกรณี เช่น ผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรค เป็นต้น
  5. ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงรุนแรงหรือสงสัยเป็นอหิวาต์ เช่น เป็นผู้สัมผัสโรค  หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรเก็บอุจจาระส่งเพาะหาเชื้อทุกราย ถ้าพบว่าเกิดจากอหิวาต์  ควรรายงานต่อหน่วยงานที่ควบคุมโรคนี้ เพื่อจะได้เนินการควบคุมมิให้เกิดโรคระบาด
  6. สำหรับผู้สัมผัสโรค ควรเก็บอุจจาระเพาะหาเชื้อและเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 5 วันถ้าพบว่าเป็นพาหะควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน ไซโพรฟล็อกซาซิน

การรักษา อหิวาต์

              1. ในรายที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง และยังกินอาหารหรือดื่มน้ำได้ดี ให้การรักษาแบบอาการท้องเดินหรืออาหารเป็นพิษทั่วไป คือ ให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ เมื่อทราบผลการตรวจว่าเป็นโรคนี้ หรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ เช่น เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยอหิวาต์  หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค  ควรให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้ออหิวาต์

              โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นภายใน 1-5 วัน ถ้าดูแล 2-3 วันแล้วอาการไม่ทุเลา หรือเป็นรุนแรงขึ้นเช่น อาเจียนบ่อย กินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำมากขึ้นควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

            2. ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นน้ำรุนแรงอาเจียนรุนแรง กินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว มักต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

            แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อจากอุจจาระ (rectal swab culture) ตรวจเลือดดูความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์  และประเมินภาวะขาดน้ำ

การรักษา  ปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ โดยการให้สารน้ำในรูปของริงเกอร์แล็กเทต (Ringer lactate) หรืออะซีทาร์ (Acetar) ถ้าไม่มีอาจใช้น้ำเกลือนอร์มัล (NSS) แทน โดยให้ในปริมาณที่สามารถทดแทนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย (ในกรณีที่ผู้ป่วยซ็อกให้ขนาด
20–40 มล./กก. อย่างรวดเร็วๆ จนกว่าความดันโลหิตจะกลับเป็นปกติ และมีความรู้สึกตัวดี) และให้กินโพแทสเซียมคลอไรด์  หรือให้ทางหลอดเลือดดำถ้าอาเจียน

                ถ้าตรวจพบว่าเป็นอหิวาต์ หรือสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรให้ยาปฏิชีวนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • เตตราไซคลีน 2 กรัม ครั้งเดียว หรือ 500 มก.วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน หรือ
  • ดอกซีไซคลีน 300 มก.ครั้งเดียว หรือ 100 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3วัน หรือ
  • โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้งนาน 3 วัน
  • ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เชื้อดื้อต่อเตตราไซคลีน ให้นอร์ฟล็อกซาซิน 400 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน หรือไซโพรงฟล็อกซาซิน(ย4.11.2)  1 กรัม  ครั้งเดียว หรืออีริโทรไมซิน 250 มก. (ย4.4) วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน
  • สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์  ควรให้ฟูราโซลิโดน (furazolidone) ขนาด 300 มก. (หรือ 7 มก./กก.) ครั้งเดียว หรือ 100 มก. (หรือ 5 มก./กก./วัน) วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน หรืออีริโทรไมซิน 250 มก.(หรือ 40 มก./กก./วัน) วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน หรือโคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด (หรือ 5-10 มก./กก./วัน ของไตรเมโทพริม) วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน 
  • ผลการรักษา หากได้รับการรักษาได้ทันการมักจะหายได้ภายใน 3-6 วัน หลังได้รับยาปฏิชีวนะ อาการท้องเดินมักจะหายได้ใน 48  ชั่วโมง ปัจจุบันพบว่าอัตราๆตายต่ำกว่าร้อยละ 1 เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับการทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ได้เพียงพอและรวดเร็ว  ก่อนจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและซ็อก
[Total: 1 Average: 5]