จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย คือ โรคที่จุดภาพชัด (macula) เป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของ จอตา มีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (cones) จำนวนมากทำให้เห็นภาพได้คมชัด ผู้สูงอายุบางคนอาจเกิดภาวะเสื่อมของจุดภาพชัด ทำให้สายตาพิการอย่างถาวรเริ่มพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี และพบบ่อยในคนอายุมากกว่า
65 ปี
โรคนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ ชนิดแห้ง (dry) และชนิดเปียก (wet)
สาเหตุ จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย
ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าอาจมีประวัติมีคนในครอบครัวเป็นด้วย ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจ และผู้ที่สูบบุหรี่โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น
โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
- จุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง (dry/atrophic macular degeneration) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป พบว่าเซลล์ประสารทมีการฝ่อตัวหายไปโดยไม่มีรอยแผลเป็นหรือเลือดออก
- จุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก (wet/neovascular/ exudative meacular degeneratio) มักเกิดขึ้นฉับพลัน และรุนแรงพบ ว่ามีหลอดเลือดผิดปกติในผนังลูกตาชั้นกลาง (คอรอยด์) บริเวณใต้จุดภาพชัด ต่อมาเกิดการรั่วซึมของเลือดหรือสารน้ำออกจากหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้เซลล์ประสาทจอตาเสื่อม
ผู้ป่วยที่เป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียกส่วนใหญ่มักมีจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้งนำมาก่อน
อาการ จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย
จุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง มักมีอาการตามัวหรือ สายตาผิดปกติ ค่อย ๆ เกิดมากขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น ผู้ป่วยอาจสังเกตว่า เวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือ ต้องมองใกล้ ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงที่สว่างมากขึ้น อ่านตัวหนังสือได้ไม่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ สายตาไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน (สีจางหรือมืดมัวกว่าปกติ) จำหน้าคนไม่ได้ สายตาพร่ามัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกลางของลานสายตามีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอด เป็นต้น
จุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก มักเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรงขึ้นรวดเร็วด้วยอาการมองเห็นภาพผิดปกติ (เช่น มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือเป็นเส้นคด มอง เห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป มองเห็นวัตถุมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ หรืออยู่ห่างกว่าปกติ) ตรงกลางของลานสายตามีลักษณะพร่ามัวหรือเป็นจุดบอด
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่ตาข้างหนึ่งก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ เนื่องจากตาอีกข้างยังดีอยู่ ต่อมาเมื่อเป็นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน
การป้องกัน จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย
- โรคนี้จะทำให้มีความผิดปกติของการมองเห็นตรงส่วนกลางของลานสายตา แต่ไม่กระทบต่อลานสายตา ส่วนรอบนอกทำให้มีปัญหาในการอ่านหนังสือ การทำ งานที่ประณีต การขับรถ และจำหน้าคน อาจกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการเดินทางได้ จึงควรระวังในการเดินทางและควรมีคนคอยช่วยดูแล
- อาการผิดปกติมักจะค่อยๆ เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ หากได้รับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรแนะ นำให้ผู้ที่มีความเสี่ยง (เช่น อายุเกิน40 ปี มีประวัติสูบบุหรี่ มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบโรคหลอดเลือดสมอง)ไปตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจ กรองโรคนี้ด้วยแผ่นภาพแอมสเลอร์ (Amsler’s chart) ซึ่งสามารถตรวจเองที่บ้านได้
- ผู้ที่สังเกตว่ามีอาการสายตาผิดปกติ เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นสีได้ไม่ชัด มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่น หรือเส้นคด เป็นต้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
ถึงแม้สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด และอาจ สัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง (เช่น อายุมาก กรรมพันธุ์) ที่แก้ไชไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอความรุนแรงของโรค
- กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ ผักและผลไม้เมล็ดธัญพืชให้มากๆ และกินปลาเป็นประจำ
- ไม่สูบบุหรี่
- ถ้าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรรักษาอย่างจิงจังจนสามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้ดี
- ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร
การรักษา จุดภาพชัดเสื่อมตามวัย
หากสงสัยควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งมักจะวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องส่องตรวจตา (ophthalmoscopy) ถ่ายภาพรังสีจอตาด้วยการฉีดสี (fluorescein angiography)
การรักษา ถ้าเป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้งแบบ เล็กน้อยหรือรุนแรงไม่มีการรักษาโดยจำเพาะถ้าเป็นแบบปานกลาง แพทย์อาจพิจารณาให้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี ทองแดง เพื่อชะลออาการ
ถ้าเป็นจุดภาพชัดเสื่อมชนิดเปียก อาจให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี (เช่น thermal laser‚ photodynamic herapy‚ transpupillary thermotherapy) เพื่อทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น
ผลการรักษาขึ้นกับชนิด ตำแน่ง และความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นชนิดเปียกที่เริ่มเป็นระยะแรก (พบว่าเริ่มมีหลอดเลือดผิดปกติในผนังลูกตาชั้นกลาง) ก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเซลล์ประสาทบริเวณจุดภาพชัดเสื่อม ทั้งหมดแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้
ในรายที่สายตาพิการมาก อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แว่นขยาย แว่นตาอ่านหนังสือ กล้องส่องทางไกล เป็นต้น