หัวใจถูกบีบรัด

หัวใจถูกบีบรัด (อังกฤษ: cardiac tamponade, pericardial tamponade) เป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งมีของเหลวคั่งอยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ หากมีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นจนทำให้หัวใจไม่สามารถขยายตัวเพื่อเติมเลือดเข้าห้องหัวใจได้จะทำให้หัวใจมีปริมาตรเลือดหัวใจบีบต่อครั้ง (stroke volume) ลดลง ทำให้เกิดการสูบฉีดเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เกิดภาวะช็อค และทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะหัวใจถูกบีบรัดเกิดขึ้นเมื่อเกิดมีของเหลวขึ้นในช่องเยื่อหุ้มหัวใจเร็วเกินกว่าที่ถุงเยื่อหุ้มหัวใจจะขยายได้ทัน หากปริมาณของของเหลวเพิ่มขึ้นช้าๆ (เช่นในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย) ถุงเยื่อหุ้มหัวใจจะสามารถขยายขนาดเพื่อรองรับของเหลวได้ก่อนที่จะเกิดภาวะบีบรัด แต่ถ้าของเหลวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่นในอุบัติเหตุหรือการฉีกขาดของหัวใจ) ปริมาณของเหลวเพียง 100 มิลลิลิตรก็สามารถทำให้เกิดภาวะบีบรัดได้

สาเหตุ หัวใจถูกบีบรัด

สาเหตุของภาวะบีบรัดหัวใจ เกิดจากสาเหตุและปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์หรืออุตสาหกรรม
  • การผิดพลาดทางการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ
  • หลอดเลือดโป่งพองแตก
  • ภาวะไตวาย
  • การติดเชื้อที่มีผลต่อหัวใจ
  • โรคลูปัส
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • มะเร็งที่แพร่ลามไปยังถุงหุ้มหัวใจ

อาการ หัวใจถูกบีบรัด

ผู้ป่วยที่มีภาวะ Cardiac Tamponade อาจแสดงสัญญาณออกเป็นอาการต่าง ๆ เช่น ฟังเสียงหัวใจได้แผ่วเบา มีภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำที่คอ ตัวเขียว และยังมีอาการอื่น ๆ เช่น

  • วิตกกังวล กระวนกระวาย หรือเซื่องซึม
  • ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ 
  • มีอาการอ่อนแรง ความรู้สึกตัวลดลง
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจเร็ว หรือไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้
  • รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณหน้าอกจนส่งผลให้คอ ไหล่ ท้อง และหลังมีอาการร่วมด้วย โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอ
  • รู้สึกอึดอัด แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนั่งตัวตรงหรือโน้มตัวไปข้างหน้า
  • ท้องหรือขามีอาการบวม 
  • มีอาการดีซ่าน ผิวซีดหรือเป็นสีม่วง 
  • คลำชีพจรไม่พบ โดยจะเกิดกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
  • ความดันเลือดต่ำ 

การรักษา หัวใจถูกบีบรัด

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและประวัติผู้ป่วย การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาแรงกดดันบริเวณหัวใจ โดยแพทย์จะเจาะระบายของเหลวออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เพื่อระบายเลือดหรือเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกหากผู้ป่วยมีบาดแผลทะลุถึงภายในทรวงอก

[Total: 0 Average: 0]