เลสิค หรือ LASIK ย่อมาจากคำว่า Laser In Situ Keratomileusis เป็นวิวัฒนาการในการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง โดยการใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นสั้นในระดับอัลตราไวโอเลต โดยจะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวที่สัมผัสเท่านั้น ไม่กระจายออกไปด้านข้างหรือทะลุผ่านเข้าไปภายในลูกตา ซึ่งโรงพยาบาลยันฮีพร้อมที่จะให้การผ่าตัดรักษาด้วยเครื่องเลเซอร์ Wavefront เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความแม่นยำสูงสุดในปัจจุบัน การรักษาใช้ร่วมกับเครื่องมือแยกชั้นกระจกตาที่เรียกว่า ไมโครเคอราโตม (Microkeratome) ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติด้วยเลสิค เป็นการรักษาที่แน่นอนและแม่นยำที่สุด และให้ผลการรักษาที่ดีมากในปัจจุบัน
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ใครที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยเลสิค เพราะไม่ใช่ว่าตรวจพบว่าเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง แล้วจะรักษาได้ทันที โดยคนที่ทำเลสิคได้ควรมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีค่าสายตาคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 50 (0.5D) อย่างน้อย 1 ปี ไม่มีโรคของกระจกตา เช่น โรคอักเสบเรื้อรังในลูกตา ภาวะตาแห้งอย่างรุนแรง โรคเบาหวาน กลุ่มโรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี (SLE) สะเก็ดเงิน , HIV ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ และควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ถึงจะสามารถรักษาด้วยเลสิคได้
เมื่อคุณตัดสินใจที่จะทำการรักษาด้วยเลสิคแล้ว ควรเตรียมตัวก่อนพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินดังนี้ คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกอย่างน้อย 3 วัน ส่วนชนิดแข็งควรถอดอย่างน้อย 7 วัน แต่ยิ่งถอดนานเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะค่าสายตาจะคงที่ ทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น เมื่อถึงวันที่มาตรวจประเมินสายตา ควรพาญาติมาเพื่อคอยดูแลและเตรียมแว่นกันแดดมาด้วย เพราะมีการหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้ตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
ตรวจประเมิน การผ่าตัดรักษาสายตาด้วย LASIK
ในการตรวจประเมิน จักษุแพทย์จะทำการวัดสายตาโดยละเอียด รวมถึงการวัดสายตาในสภาพที่ม่านตาขยายตัว ด้วยยาหยอดขยายม่านตา โดยมีขั้นตอนการตรวจคือ ตรวจวัดการมองเห็น ตรวจวัดความดันลูกตา ตรวจสภาพจอประสาทตา ตรวจวัดความโค้งกระจกตาส่วนหน้าและส่วนหลัง ตรวจวัดความหนาของกระจกตา (Pachymetry) ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากการตรวจ จักษุแพทย์จะทำการสรุปและให้คำแนะนำกับคนที่เข้ารับการรักษา โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 2-3 ชั่วโมง
จักษุแพทย์หยอดยาชาเพื่อให้คนไข้ไม่มีความเจ็บปวด พร้อมกับอธิบายขั้นตอนการรักษา หลังจากนั้นจักษุแพทย์ใช้เครื่องมือ Microkeratome ในการแยกชั้นกระจกตา โดยจะแยกชั้นของกระจกตาออกประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของกระจกตา แล้วใช้เครื่องเลเซอร์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า Excimer Laser ยิงขัดผิวกระจกตาบางส่วนออก เพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตา โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาแตกต่างกัน ตามความมากน้อยของความผิดปกติของสายตา จากนั้นจึงทำการปิดชั้นกระจกตาด้านบนกลับเข้าที่เดิมโดยไม่มีการเย็บ ใช้เวลาเพียง 3-5 นาที กระจกตาก็จะสมานกลับเข้าที่เดิมโดยธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่ได้คือกระจกตามีความโค้งพอดีที่จะทำให้แสงจากวัตถุตกกระทบลงบนจอประสาทตาเหมือนกับคนที่มีสายตาปกติ ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-15 นาที
หลัง การผ่าตัดรักษาสายตาด้วย LASIK
หลังการรักษาคุณสามารถมองเห็นได้ชัดเจนพอสมควรในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถกลับบ้านได้เลย โดยจักษุแพทย์จะนัดมาทำการตรวจในวันรุ่งขึ้น อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เคืองตา น้ำตาไหลในช่วง 1 ถึง 2 วันแรกหลังการผ่าตัด สายตาจะคงที่ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของภาวะสายตาที่เป็นอยู่ด้วย แต่จุดประสงค์ที่สำคัญของการรักษา คือต้องการให้หายจากสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง โดยถาวร ไม่ต้องสวมแว่นตา ไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์ตลอดไป แต่บางครั้งก็ไม่สามารถทำให้ตรงตามจุดประสงค์ดังกล่าวได้ ดังนั้น จุดประสงค์รองลงมาก็คือการช่วยให้มีสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ลดลงจากเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้คุณไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาและคอนแทคเลนส์ตลอดเวลา
ข้อดี การผ่าตัดรักษาสายตาด้วย LASIK
ข้อดีของการรักษาด้วยเลสิค คือ เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติอย่างถาวร ภายใต้การผ่าตัดที่แม่นยำและปลอดภัย ไม่ต้องฉีดยาใช้เพียงการหยอดตาด้วยยาชา ไม่มีการเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ระเวลาพักฟื้นสั้น และแผลหายเร็ว เพราะการมัวหมองของสายตาหมายถึงคุณภาพชีวิตที่แย่ลง การทำเลสิคให้สายตากลับมาปกติ การมองเห็นชัดเจนขึ้น ลดการพึ่งพาแว่นตาและคอนแทคเลนส์ จึงทำให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ เพิ่มความคล่องตัวในการประกอบกิจกรรม งานอดิเรก และกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำและกีฬากลางแจ้ง รวมทั้งช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพและเพิ่มความมั่นใจ ให้คุณมองเห็นโลกใหม่ที่สดใสกว่าเดิม และเพื่อให้แน่ใจว่าการทำเลสิคเหมาะสมกับคุณหรือไม่ สามารถพูดคุยเพื่อรับคำปรึกษาเบื้องต้นจากจักษุแพทย์ได้