โรคปวดข้อรูมาตอยด์

โรคปวดข้อรูมาตอยด์  คือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 1 - 3 ของคนทั่วไป พบในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายประมาณ 4 - 5 เท่า และพบมากในช่วงอายุ 20 - 50 ปี แต่ก็พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

สาเหตุ โรคปวดข้อรูมาตอยด์

โรคนี้พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อม ๆกัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆข้อ เชื้อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน) ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune)

อาการ โรคปวดข้อรูมาตอยด์

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อกระดูกนำมาก่อนนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น

ส่วนน้อยอาจมีอาการของข้ออักเสบเกิดขึ้นฉับพลันภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ หลังผ่าตัด หลังคลอด หรืออารมณ์เครียดซึ่งบางรายอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลือโต ม้ามโตร่วมด้วย

ข้อที่เริ่มมีอาการอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมากจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก

ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือมีอาการปวดข้อ พร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้ง 2 ข้าง และข้อจะบวมแดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวมเหมือนรูปกระสวย ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทุกข้อทั่วร่างกาย ตั้งแต่ข้อ ขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า

บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อ หรือ ไม่กี่ข้อ และอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย (ไม่เกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย) ก็ได้

อาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบาก) มักจะเป็น มากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจหรือ ไม่อยากตื่นนอน พอสาย ๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหว ของร่างกายจะทุเลา

บางรายอาจมีอาการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ

อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางระยะอาจทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับกำเริบรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะมีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้ออาจจะแข็งและพิการได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม ด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาการปวดชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาว และเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s  phenomenon) ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

การป้องกัน โรคปวดข้อรูมาตอยด์

  1. โรคนี้พบในบ้านเรา กว่าร้อยละ 70 จะไม่มีอาการรุนแรง สามารถรักษาด้วยการกินแอสไพริน การรักษาทางกายภาพบำบัด การกำหนดเวลาพักผ่อนและทำงาน หรือออกกำลังกายให้พอเหมาะ จนผู้ป่วยสามารถทำงานได้เป็นปกติ (โดยผู้ป่วยจะต้องกินยาแอสไพรินติด ต่อกันทุกวันเป็นปี ๆ) หรืออาจหายขาดได้ มีเพียงร้อยละ 20-30 ที่อาจมีอาการรุนแรงที่ต้องใช้ยาอื่นๆ รักษา
  2. หัวใจของการรักษาโรคอยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ กล่าวคือ จะต้องพยายามเคลื่อนไหวข้อ และฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่ง ๆ เพราะ ยิ่งอยู่นิ่ง ข้อยิ่งฝืดแข็ง และขยับยากยิ่งขึ้น
  3. ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชุดกินเอง เพราะถึงแม้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ก็อาจเกิดโทษจากยาสตีรอยด์ หรือยาอันตรายอื่น ๆ ที่ผสมอยู่ในยาชุด
  4. ชาวบ้านอาจมีความสับสนในคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้เรียกเกี่ยวกับอาการปวดข้อ เช่น คำว่ารูมาติสซั่ม (rheumatism) ซึ่งหมายถึงภาวะต่าง ๆที่ทำให้มีอาการ เจ็บปวด ปวดเมื่อย หรือปวดล้าของข้อ เส้นเอ็นหรือ กล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเป็นคำที่ใช้เรียกโรคปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยรวม ๆ ซึ่งสามารถ แบ่งแยกสาเหตุได้มากมาย ดังนั้น รูมาติสซั่ม (โรคปวดข้อ) จึงอาจมีสาเหตุจากข้อเสื่อม โรคปวดข้อรูมาตอยด์  ไข้รูมาติก โรคเกาต์ และอื่น ๆ
  5.  บางรายอาจเข้าใจผิดวา มาติสซั่มหมายถึงโรคปวดข้อรูมาตอยด์ เวลามีอาการปวดข้อเรื้อรังเกิดขึ้นจึงเหมาเอาว่า เป็นโรคปวดข้อรูมาตอยด์ไปเสียหมด ซึ่งทำให้(ป่วยมีความวิตกกังวลและปฏิบัติตัวอย่างผิด ๆ ดังนั้นจึงควรอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจในเรื่องนี้

การรักษา โรคปวดข้อรูมาตอยด์

หากสงสัย ควรแนะนำไปโรงพยาบาล การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) สูง และมักจะพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (rheumatoid factor) เอกซเรย์ข้อจะพบมีการสึกกร่อนของกระดูก และความผิดปกติของข้อ

การรักษา ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ตัวที่ใช้ได้ผลดีและราคาถูก ได้แก่ แอสไพริน ผู้ใหญ่วันละ 4-6 กรัม (12-20 เม็ด) เด็กให้ขนาด 60-80 มก./กก./วัน โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร และกินร่วมกับรานิทิดีน เพื่อป้องกันมิให้โรค แผลเพ็ปติก

ยานี้ต้องกินติดต่อกันทุกวัน นานเป็นเดือน ๆ หรือ ปี ๆ จนกว่าอาการจะทุเลา (โดยทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน) ขณะเดียวกันก็ควรให้การักษาทางกายภาพบำบัด รวมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึงมักจะแนะนำให้ทำในตอนเช้านาน 15 นาที

ผู้ป่วยควรพยายามขยับข้อต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ หลังจากให้กินแอสไพรินได้ 1 สัปดาห์ ควรแนะนำ ให้ผู้ป่วยทำการฝึกกายบริหารในท่าต่าง ๆ ซึ่งควรทำเป็น ประจำทุกวัน จะช่วยให้ข้อทุเลาความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหาเวลาพักผ่อน สลับกับการ ทำงาน หรือการออกกำลังกายเป็นพัก ๆ

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องนอนพักรักษาตัวใน โรงพยาบาล นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจต้อง เข้าเฝือกเพื่อให้ข้อที่ปวดได้พักอย่างเต็มที่

ในรายที่ใช้แอสไพรินไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนไปใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์  ตัวอื่น

ถ้ายังไม่ได้ผล อาจต้องให้ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) หรือสารเกลือของทอง (gold salt) เช่น ออราดนฟิน (auranofin) ควบด้วย เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งมักจะได้ผลค่อนข้างดี
ในบางรายอาจต้องให้สตีรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ (แต่จะกินเป็นระยะสั้น) หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) เช่น เทโทเทรกเซต (methotre-xate) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) เป็นต้น


[Total: 3 Average: 4.7]