เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้สึกถึงอากาศอันร้อนระอุในช่วงนี้กันแล้วอย่างแน่นอน เป็นสัญญาณที่บอกได้ชัดเจนเลยว่าฤดูร้อนได้เริ่มขึ้นแล้วค่ะ แต่เห็นร้อนๆ แบบนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่อากาศที่ร้อนขึ้นแน่ๆ เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นก็มีผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งนั่นเองค่ะ ซึ่งอากาศแบบนี้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมากเลยหล่ะค่ะ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย จึงส่งผลให้ซัมเมอร์นี้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตกันมากขึ้นแล้ว นั่นก็เพราะมีโรคที่มักจะแอบแฝงมากับหน้าร้อนนั่นเอง มาดูกันดีกว่าว่ามีโรคอะไรบ้างที่เราต้องระวัง!
โรคฤดูร้อน – โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดีหรือเรียกว่าไม่สะอาดนั่นเอง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและมักหายได้เอง ส่วนใหญ่แล้วจะพบในช่วงหน้าร้อนเพราะอากาศร้อนจะทำให้อาหารและน้ำดื่มเสียง่ายและทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันนั่นเอง
โรคฤดูร้อน – โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อเข้าไปมักมีไข้ ปวดท้อง ซึ่งเชื้อที่ได้รับสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ได้ จึงทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดเมื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วงด้วย หรือการติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น ข้อกระดูก ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยหล่ะ
3. โรคฤดูร้อน – โรคบิด (Dysentery)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วยนะคะ หากติดเชื้อก็มักจะมีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย
4. โรคฤดูร้อน – อหิวาตกโรค (Cholera)
เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกันค่ะ
5. โรคฤดูร้อน – ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย (Typhoid)
อีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเช่นกัน ซึ่งเจ้าโรคไข้ไทฟอยด์นี้จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร และอาจท้องผูกหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้เชื้อปนก็อาจปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ด้วย ทำให้เราเป็นพาหะนำโรคได้นั่นเองค่ะ
6. โรคฤดูร้อน – โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ (Rabies)
ส่วนใหญ่มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่เรานั่นเองค่ะ ซึ่งมักจะพบเชื้อจากสุนัขและแมวนี่หล่ะค่ะ โดยสามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก อีกด้วยค่ะ ซึ่งหากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันและต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันทีค่ะ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปีเลยค่ะ และเนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ
จะเห็นได้ว่าเกือบทั้ง 6 โรคที่ต้องระมัดระวังในซัมเมอร์นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มทั้งนั้นเลย ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอเตือนให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ