การขยายม่านตา (Pupil Dilation) คือ จะทำให้รูม่านตาเปิดกว้างได้ถึงประมาณ 8 มิลลิเมตร ทำให้แพทย์สามารถทำการตรวจอวัยวะภายในลูกตา เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ละเอียดเพิ่มมากขึ้น
ลูกตาของคนเรามีลักษณะเป็นทรงกลม โครงสร้างที่มองเห็นจากด้านหน้าตา คือ ตาดำและตาขาว ส่วนของตาที่เราเห็นเป็นสีดำในคนเอเชีย และสีฟ้าในชาวตะวันตก คือ ม่านตา ตรงกลางของม่านตาเป็นรูเล็กๆ เรียกว่า รูม่านตา มีขนาด 2-4 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ปรับแสงที่เข้าสู่ดวงตาให้พอเหมาะตามสภาพแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในที่ๆ มีแสงจ้า ม่านตาจะหดเล็กลงเพื่อลดแสง และเมื่ออยู่ในที่มืด ม่านตาจะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มแสงที่เข้าสู่ดวงตา ส่วนโครงสร้างที่อยู่ถัดจากม่านตาเข้าไปด้านใน ได้แก่ เลนส์ตา วุ้นตา จอตาและขั้วประสาทตา ในการตรวจตาหากไม่ได้ทำการขยายม่านตา แพทย์จะสามารถมองเห็นอวัยวะที่อยู่หลังม่านตาเหล่านี้ได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น เนื่องจากต้องตรวจผ่านรูม่านตาที่มีขนาดเล็ก
การส่องดูรูม่านตานี้สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- ต้อหิน (Glaucoma)
- จอประสาทตาลอก (Retinal detachment)
- โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมตามสูงอายุ (Age-related macular degeneration)
- เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy)
การขยายม่านตาทำอย่างไร
การขยายม่านตาทำได้โดยการหยอดยา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลังหยอดจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ม่านตาจึงจะขยายเต็มที่
การหยอดยาขยายม่านตามีประโยชน์ เพื่อ
- ช่วยในการตรวจส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในลูกตา หลังม่านตาได้แก่ แก้วตา น้ำวุ้นตา จอตา ได้อย่างละเอียด เช่น แก้วตาขุ่นมากแค่ไหน เป็นบริเวณใดของแก้วตา จอตาปกติหรือมีเลือดออก มีภาวะเบาหวานทำลายจอตาหรือไม่ เป็นต้น
- ช่วยในการผ่าตัดภายในดวงตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ยิงเลเซอร์รักษาโรคจอตา การผ่าตัดภายในดวงตา ส่วนมากต้องมีการหยอดยาขยายม่านตาทั้งสิ้น
- ในกรณีมีการอักเสบภายในดวงตา ม่านตาจะไปเกาะส่วนต่าง ๆ ภายในลูกตา เช่น ติดกับแก้วตา น้ำวุ้นตา ก่อให้เกิดผลเสียในภายหลัง การขยายม่านตาจะช่วยลดภาวะนี้ได้
- ยาขยายม่านตาที่มีฤทธิ์ลดการทำงานของ ciliary muscle ลดอาการเพ่ง พักการทำงานของม่านตาและ ciliay body ทำให้ลดการอักเสบ และลดอาการปวดลงได้
- ยาขยายม่านตาที่มีฤทธิ์หดการเพ่ง ใช้รักษาภาวะตาสั้นเทียม ช่วยให้การวัดสายตาในเด็กได้แม่นยำยิ่งขึ้น (เรียกกันว่า cycloplegic refraction) สมควรในการทำแว่นตาคู่แรกในเด็ก หรือในเด็กที่มีภาวะตาเขจากสายตาผิดปกติ (accommodative esotropia) เป็นต้น
ข้อควรระวังในการขยายม่านตา
– เมื่อม่านตาขยายจะทำให้เกิดอาการตาพร่า แพ้แสง ตามัวลง เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น หากแพทย์นัดตรวจขยายม่านตา ควรมีผู้มารับส่งและคอยดูแลช่วยเหลือ นอกจากนี้ควรเตรียมแว่นตากันแดดมาด้วย เพื่อลดอาการแพ้แสงเมื่อออกกลางแจ้ง
– ผู้ที่มีช่องหน้าลูกตาแคบ การที่ม่านตาขยายอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลันได้ หากตรวจแล้วพบว่ามีช่องหน้าลูกตาแคบมาก จักษุแพทย์อาจพิจารณาทำการเลเซอร์เจาะรูม่านตาก่อนทำการขยายม่านตา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหยอดขยายม่านตา
- ตาสู้แสงไม่ได้ เนื่องจากม่านตาไม่หดเมื่อเห็นแสง แสบตา เคืองตาเวลาพบแสง แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของยาที่หยอด
- มองใกล้ไม่ชัด เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งทำงานไม่ได้
- ในผู้ป่วยบางรายที่ช่องที่อยู่ส่วนหน้าของลูกตาแคบ อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันได้
คำแนะนำหลังได้รับการหยอดยาขยายรูม่านตา
- หลังหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้ตามัวประมาณ 6-8 ชั่วโมง ไม่สามารถขับรถและอ่านหนังสือได้
- ผู้ป่วยต้องมีญาติมาด้วยทุกครั้งและ/หรือไม่ควรขับรถเองหลังได้รับการขยายม่านตา หากผู้ป่วยมา คนเดียว และประสงค์จะขยายม่านตาแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งรถ Taxi กลับ หรือ รอญาติมารับ
- ในกรณีต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจแผนกอื่นต่อหลังจากขยายม่านตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้รถนั่งในการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้ม หรืออันตรายอื่นๆ กับผู้ป่วยได้
- ใช้แว่นตาดำเพื่อช่วยลดความจ้าของแสง